ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เริ่มดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือตามโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 แก่เกษตรกรที่ลงทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปีกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและทำให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวและรักษาคุณภาพข้าว ในอัตราไร่ละ 500 บาท ตามพื้นที่ที่ปลูกข้าวจริงแต่ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ วงเงิน 25,793 ล้านบาท ซึ่ง ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2562 ธ.ก.ส. ได้เริ่มโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรไปแล้วจำนวน 285,887 ราย เป็นเงิน 1,537 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าจะเร่งทยอยโอนเงินได้ร้อยละ 80 ของเป้าหมายทั้งหมด หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 นี้ ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้ซึ่งจะทยอยจ่ายเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 เมษายน 2563
ธนาคารออมสิน จัดทำ 2 โครงการ ได้แก่
1) โครงการคืนดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ลูกค้ารายย่อย คืนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ธนาคารได้รับในรอบ 12 เดือนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงเดือนตุลาคม 2562 สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินรวมทุกสัญญาไม่เกิน 200,000 บาท
2) โครงการมอบอัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับลูกค้าเงินฝากประจำ โดยเพิ่มจากอัตราดอกเบี้ยตามประกาศเดิมอีกร้อยละ 0.25 ต่อปี สำหรับเงินฝากไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) คืนเงิน (Cash Back) จำนวน 1,000 บาท ให้แก่ลูกค้าที่มีประวัติการผ่อนชำระหนี้ดีย้อนหลัง 48 เดือน โดยชำระตรงเวลาและไม่น้อยกว่าเงินงวดที่ธนาคารกำหนด สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยผู้ที่สนใจสามารถแสดงความจำนงที่ ธอส. ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ โดยธนาคารจะโอนเงินผ่านทางบัญชีเงินฝากที่ผูกกับแอปพลิเคชั่น GHB ALL ของทางธนาคารภายในเดือนธันวาคม 2562 ถึงเดือนมกราคม 2563
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จัดทำ 2 โครงการ ดังนี้
1) โครงการเสริมสภาพคล่องผู้ส่งออก วงเงินโครงการ 2,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่เป็นผู้ส่งออก ผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าเพื่อการส่งออก เพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียน หรือปรับปรุงเครื่องจักร โรงงาน วงเงินอนุมัติสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 ร้อยละ 3.99 ต่อปี และฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด 4 ปี
2) โครงการการลดภาระในการชำระหนี้ สำหรับลูกค้า SMEs ของธนาคารที่ไม่ต้องการวงเงินเพิ่ม แต่ต้องการลดภาระในการผ่อนชำระหนี้ แบ่งเป็น
- ลูกค้าเงินกู้ระยะยาว ขยายระยะเวลาผ่อนชำระเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 2 ปี และลดอัตราดอกเบี้ยลงจากเดิมร้อยละ 0.125 ต่อปี
- ลูกค้าเงินกู้ระยะสั้น เพิ่มสัดส่วนการเบิกเงินกู้สูงสุดร้อยละ 95 ของมูลค่าเลตเตอร์ออฟเครดิต (Letter of Credit : L/C) และร้อยละ 85 ของมูลค่าใบสั่งซื้อสินค้า (Purchase Order : P/O) และลดอัตราดอกเบี้ยและอัตรารับซื้อลดเอกสารส่งออกลงจากเดิมร้อยละ 0.125 ต่อปี
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ยกเว้นค่าธรรมเนียมที่ธนาคารเรียกเก็บทุกประเภท ได้แก่ ค่าประเมินหลักประกัน ค่าธรรมเนียมนิติกรรมสัญญา สำหรับลูกค้าที่ขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบ้านแลกเงินที่ทำสัญญาสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 นอกจากนี้ ธนาคารยังมีอัตรากำไรพิเศษสำหรับ Refinance สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ในอัตราเริ่มต้นเฉลี่ย 3 ปีแรกเท่ากับร้อยละ 3.056 ต่อปี และได้รับเงื่อนไขการยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ข้างต้นด้วยเช่นกัน
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จัดทำ 3 โครงการ ดังนี้
1) มาตรการลดภาระการชำระหนี้ สำหรับลูกค้าชั้นดีที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท พักชำระเงินต้นคงเหลือ (ชำระเฉพาะดอกเบี้ย) ได้นานถึงสูงสุด 6 เดือน
2) มาตรการสร้างรายได้ให้แก่ SMEs โดยหาช่องทางการจำหน่ายให้ลูกค้า ในงานออกบูธจำหน่ายสินค้า SMEs ภายใต้โครงการ "SMEs Gift Fest" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 ธันวาคม 2562 - 5 มกราคม 2563 ณ ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์
3) สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ สำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นเฉลี่ยร้อยละ 0.33 ต่อเดือน วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 15 ล้านบาท
4) สินเชื่อ SMART Factoring บัญชีเดียว อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 0.57 ต่อเดือน วงเงินสูงสุดร้อยละ 90 ของมูลหนี้ทางการค้า พร้อมทั้งให้เครดิตนาน 180 วัน
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม จัดทำโครงการ บสย. SMEs D ยกกำลังสาม วงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท (ภายใต้โครงการ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 8) วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 5 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ฟรีค่าธรรมเนียม 3 ปีแรก สำหรับการค้ำประกันสินเชื่อภายใต้โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
กรมสรรพากร จัดทำ 2 โครงการ ดังนี้
1) SME โปรดีบัญชีเดียว เป็นมาตรการที่กรมสรรพากรร่วมมือกับสถาบันการเงินทั้ง 19 แห่ง ในการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนแจ้งใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. ยกเว้นเบี้ยปรับฯ พ.ศ. 2562 โดยให้สิทธิประโยชน์พิเศษทางการเงินในรูปแบบสินเชื่ออัตราพิเศษหรือรูปแบบอื่น ๆ อันจะช่วยสร้างรากฐานทางธุรกิจที่มั่นคงให้กับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจะเปิดตัวในวันที่ 7 มกราคม 2563
2) เว้นภาษี แก้หนี้ NPL เป็นมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เพื่อเป็นการลดภาระและเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ
กรมสรรพสามิต จัดทำแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านการประชาสัมพันธ์รณรงค์ไม่ดื่มสุราขณะขับขี่ยานพาหนะ และใช้ความระมัดระวังในการขับขี่และรักษาวินัยจราจร เข้มงวดการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลา สถานที่ และบุคคลที่ห้ามจำหน่าย จัดเจ้าหน้าที่ร่วมปฏิบัติงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ และจัดชุดเฉพาะกิจสำนักตรวจสอบ ป้องกันและปราบปราม พร้อมสนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันตรวจสอบและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตตามแหล่งสถานบริการ แหล่งชุมชน และพื้นที่เป้าหมายอื่นๆ
กรมศุลกากร จัดทำโครงการผู้ประกอบการโดนใจได้ประโยชน์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดเก็บค่าภาษีอากรให้กับผู้ประกอบการที่ชำระค่าภาษีอากรไม่ครบถ้วนได้ทบทวนตนเอง และเปิดโอกาสให้ชำระค่าภาษีอากรที่ขาดด้วยความสมัครใจ โดยโครงการดังกล่าวได้กำหนดระเบียบปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการที่ได้รับการพิจารณาเบื้องต้นว่าเป็นผู้ประกอบการสุจริตแต่อาจชำระค่าภาษีอากรไว้ไม่ครบถ้วน ได้ทบทวนตนเอง ตามประเด็นข้อสงสัยที่เจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้ทราบ และไปชำระค่าภาษีอากรที่ขาดให้ครบถ้วนด้วยความสมัครใจตามประเด็นที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ หากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่ากระทำการโดยทุจริต ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการพิจารณาคดีโดยการผ่อนผันการปรับ
กรมธนารักษ์ จัดทำโครงการตลาดประชารัฐตามแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน "จัดทำชุมชนให้เป็นห้องประชุมในที่ราชพัสดุ" ในพื้นที่ 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร โดยจัดพื้นที่ในที่ราชพัสดุเพื่อจำหน่ายสินค้าที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของวิถีชุมชน พร้อมทั้งจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นในการซื้อขายให้มีสุขอนามัยที่ดี รวมถึงเชื่อมโยงการซื้อขายสินค้าเกษตร สินค้าหัตถกรรม สินค้า OTOP ของชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงมาจำหน่าย เป็นต้น โดยจะเริ่มโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ถึงเดือนกันยายน 2563