ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเสริมสร้างความรู้ "หลักสูตรการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสู่วิทยฐานะและความก้าวหน้าในวิชาชีพ" ให้ผู้บริหารและบุคลากรของโรงเรียนในจังหวัดชุมพร รุ่นที่ 1 เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้นำความรู้และทักษะการสอนไปบูรณาการกับการเรียนการสอนให้เหมาะกับรูปแบบการเรียนของเด็กยุคใหม่ พร้อมกับการสร้างสรรค์งานวิจัยและกลวิธีการเขียนผลงานวิชาการได้อย่างตรงจุด
ผศ.ดร.ลินดา เปิดเผยว่า "ปัจจุบันนี้เกิดช่องว่างระหว่างครูกับเด็กนักเรียน เพราะมีสื่อดิจิทัลและช่องทางสมัยใหม่ที่เข้าถึงแหล่งความรู้ด้วยตนเองได้ง่าย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ครูจะต้องหมั่นค้นคว้าฝึกอบรมทักษะการสอนและการสร้างสื่อใหม่ๆ ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของเด็กยุคศตวรรษที่ 21 เพื่อนำมาจัดประสบการณ์การเรียนการสอนให้เด็กได้เรียนรู้เอง ได้คิดเองและสังเคราะห์เองได้ ต้องหารูปแบบการสอนสนุกๆ เช่น การสอนโดยใช้กิจกรรม ใช้โครงการ การตั้งปัญหา และนำสื่อการสอนที่ทันสมัยเข้ามาใช้ ที่สำคัญต้องยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
ในขณะที่การสร้างสรรค์งานวิจัยโดยนำเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาที่รับผิดชอบ มาสร้างเป็นผลงานเพื่อขอเพิ่มวิทยฐานะ ในรูปแบบของการวิจัยและงานสร้างสรรค์สื่อการสอนพัฒนาทักษะการเรียนรู้แก่ผู้เรียน ก็เป็นสิ่งจำเป็นของบุคลากรทางการศึกษาเช่นเดียวกัน"
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาเก่าแก่ที่ผลิตครูมืออาชีพมาอย่างยาวนาน จึงได้จัด โครงการฝึกอบรมเสริมสร้างความรู้ "หลักสูตรการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสู่วิทยฐานะและความก้าวหน้าในวิชาชีพ" ขึ้น ให้แก่ผู้บริหารและบุคลากรของโรงเรียนในจังหวัดชุมพร เป็นรุ่นแรก โดยนำอาจารย์และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยนำองค์ความรู้ที่หลากหลายในศาสตร์การสอนของแต่ละคณะและสาขาวิชา ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการเขียนผลงานทางวิชาการและการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างเข้มข้น รุ่นละ 30 คน ใช้เวลา 18- 20 ชั่วโมง คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้ารับการอบรมไม่น้อยกว่า 5 รุ่น
ผศ.ดร.ลินดา กล่าวสรุปว่า "การเพิ่มวิทยฐานะของอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาทั้งด้านการวิจัยเพิ่มความรู้ในรายวิชาของตนเอง และบูรณาการร่วมกับทักษะการสอนอย่างครูมืออาชีพ ความรู้และทักษะการสอนใหม่ๆที่ได้จากการอบรม สุดท้ายก็ส่งผลถึงผู้เรียนซึ่งเป็นนักเรียนที่ควรได้รับมาตรฐานการศึกษาเท่าเทียมกันทั่วประเทศนั่นเอง"