ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างไทย – ญี่ปุ่นครั้งนี้ จะเสริมสร้างประโยชน์ต่อการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 งานวิจัยพัฒนาและวิทยาการที่รองรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและโลกอนาคต เปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่และบุคลากรได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดสร้างนวัตกรรม โดยสอดคล้องแนวทางของรัฐบาลในการเสริมสร้างประเทศไทยเป็นเมดิคัลฮับ และ BCG Model ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่บนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่Bioeconomy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับ Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และ Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ทั้งสององค์กรมีประวัติศาสตร์อันยาวนานและโครงสร้างที่คล้ายคลึงกัน โดยมีโรงพยาบาลในสังกัดหลายแห่ง และต่างก็มุ่งความเป็นเลิศด้านการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านชีวการแพทย์, ชีวเคมี, วัสดุศาสตร์, ฟิสิกส์, ภูมิคุ้มกันวิทยา เป็นต้น มหาวิทยาลัยมหิดลมีประวัติศาสตร์การก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงริเริ่มจัดสร้างโรงพยาบาลวังหลังในปี พ.ศ.2429 และพัฒนาเจริญก้าวหน้าเคียงคู่คุณภาพชีวิตของคนไทยมาตลอด 133 ปี ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดล มี 17คณะ, 6 วิทยาลัย, 8 สถาบัน, 5 โรงพยาบาล, 2 โรงพยาบาลทันตกรรม และ 2 โรงพยาบาลสัตว์
ส่วนมหาวิทยาลัยโอซาก้า นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติ 1 ใน 7 ของประเทศญี่ปุ่น และมีประวัติศาสตร์มายาวนานกว่า 295 ปี ตั้งแต่ยุคเอโดะ โดยก่อตั้งโรงเรียนพ่อค้าในปีค.ศ. 1724 หรือ ไคโตะคุโด และในปีค.ศ. 1838 เปิดโรงเรียนสอนศิลปวิทยาการตะวันตกสำหรับซามูไร หรือเทกิจูทู ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1869 มีการเปิดโรงเรียนแพทยศาสตร์จังหวัดโอซาก้า ขึ้นที่ใจกลางเมืองโอซาก้า หลังจากนั้น ในปี ค.ศ. 1919 ได้ยกสถานะขึ้นเป็นวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จังหวัดโอซาก้าจากนั้นควบรวมกับวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ และสถาปนาเป็น มหาวิทยาลัยโอซาก้า ในปี ค.ศ. 1931 หลังจากนั้นอีก 2 ปี วิทยาลัยเทคนิคโอซาก้าได้ถูกผนวกรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย และพัฒนาเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปัจจุบันมี 3 วิทยาเขต จำนวนนักศึกษากว่า 15,000 คน และเปิดสอนรวม 12 คณะ มีโรงพยาบาล 2 แห่ง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยโอซาก้ายังมีศิษย์เก่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลอีกด้วย