อธิการบดี สจล. สะท้อนอนาคตเด็กไทย ด้วยวิชาปรับตัวในโลกยุค “ดิสรัปชัน” หมดยุคค่อยเป็นค่อยไป ต้องปรับให้ทันโลก

ศุกร์ ๐๓ มกราคม ๒๐๒๐ ๑๔:๑๒
- ภาคการศึกษาไทยควรปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ AI ที่จะเข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตและการทำงาน เพื่อรองรับโลกยุค "ดิสรัปชัน" ที่สร้างความปั่นป่วน

- ในฐานะที่เคยเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไทยและนายกสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย (สนร.) จะอาศัยประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้มาพัฒนาและสร้างคุณค่าให้กับประเทศไทยอย่างสุดชีวิต

จากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกทุกวันนี้ ทำให้ประสบการณ์ที่สะสมมาอย่างยาวนานไม่สามารถนำมาปรับใช้ประโยชน์อะไรได้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น ดังนั้น ภาคการศึกษาของไทยจะต้องปรับตัวให้เข้าทันกับยุคสมัยจึงจะสามารถอยู่รอดได้ในโลกยุค "ดิสรัปชัน" (Disruption) ซึ่งเป็นยุคที่รวบรวมทั้งความปั่นป่วน การทำลายล้าง และการเกิดขึ้นใหม่ไว้ในยุคเดียวกัน

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า โลกทุกวันนี้ก้าวสู่ยุค "ดิสรัปชัน" (Disruption) การศึกษาของไทยควรได้รับการปฏิรูปและพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อให้ก้าวทันกับยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ที่ต้องการเน้นวิชาชีพทางด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อใช้ในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น ปัจจุบันเทคโนโลยี AI : Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์ เข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวัน ซึ่งมาทดแทนด้านการทำงานในหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพนักการเงินที่เคยมีบทบาทอย่างมากในด้านการลงทุน แต่ทุกวันนี้กลับถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี AI เพราะด้วยความสามารถทางด้านการจดจำข้อมูลย้อนหลังนานนับ 10 ปี รวมถึงการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้มากกว่ามนุษย์ อีกทั้งยังปราศจากการทำงานที่มีอคติ ซึ่งนับว่าเป็นข้อดีของระบบ AI ที่มนุษย์อาจไม่สามารถทำได้

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ของมนุษย์ที่สะสมมายาวนานกว่า 70 ปี ปัจจุบันมองว่าไม่สามารถนำมาปรับใช้ประโยชน์อะไรได้แล้ว เนื่องจากโลกยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เด็กไทยควรได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อดึงศักยภาพและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาประเทศ โดยเฉพาะการแข่งขันกับเด็กประเทศสิงคโปร์ ที่ในอดีตเด็กไทยเคยถูกสอนมาว่าไม่สามารถสู้เด็กจากประเทศนี้ได้ แต่ปัจจุบันนี้เด็กไทยมีความรู้และความสามารถในหลายๆ ด้าน จะเห็นได้จากนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตพระจอมเกล้าลาดกระบัง ด้วยวัยเพียง 10 ปี สามารถเขียนโปรแกรม Blockchain AIควบคุมหุ่นยนต์ได้แชมป์โลก ยังรวมถึงเด็กไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ให้เข้าร่วมการแข่งขัน Google Science Fair ซึ่งเป็นรายการแข่งขันการประดิษฐ์เครื่องช่วยฟังสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเด็กไทยมีความรู้และความสามารถไม่แพ้เด็กชาติใดในโลก

"ทุกวันนี้เด็กยุคใหม่ๆ ทั่วโลก ไม่ได้สนใจที่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะรู้สึกว่าไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต บางคนจบวิศวะก็ไปปลูกผักขายทางช่องทางออนไลน์ หรือไปขายเสื้อผ้าออนไลน์ เพราะสามารถสร้างรายได้ที่ดีกว่าหากว่าธุรกิจนั้นได้รับการยอมรับ เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ไม่ใช่ยุคที่คนจะมาเรียนเพื่อเป็นด็อกเตอร์หรือศาสตราจารย์ต่อไปแล้ว" ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

ศ.ดร.สุชัชวีร์ ยังกล่าวว่า ในฐานะที่เคยเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไทยและนายกสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย จะอาศัยประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาพัฒนาและสร้างคุณค่าให้กับประเทศไทย ที่ผ่านมา สจล. ได้มีการปรับตัวและรับมือให้เข้ากับยุคดิสรัปชัน (Disruption) โดยที่ผ่านมา สจล. ได้เชิญมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน (Carnegie Mellon University : CMU) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์อันดับ 1 ของโลก เพื่อร่วมกันจัดตั้งสถาบันร่วมระดับอุดมศึกษา ภายใต้ชื่อ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) และได้เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2561 ในสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์, สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอกในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทางมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาของเด็กไทย ด้วยเหตุผลที่ว่านักเรียนทุนรัฐบาลไทยที่เคยศึกษาในมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน กว่า 300 คน ไม่เคยทำให้เขาผิดหวังมาก่อน

นอกจากนี้ สจล.ยังได้เปิดสอนคณะแพทยศาสตร์ เพื่อผลิตแพทย์ที่ไม่เหมือนกับสถาบันศึกษาอื่นๆ ที่เน้นการเรียนการสอนควบคู่กับสถาปัตยกรรม โดยโฟกัสด้าน system thinking และ system design เนื่องจากเครื่องมือทางการแพทย์เป็นเครื่องมือที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้นักศึกษาเมื่อจบหลักสูตรแล้วมีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงเรียนด้านภาพยนตร์สั้น ซึ่งพบว่านักศึกษาสามารถนำความรู้ด้านการตัดต่อภาพยนตร์นำไปผลิตเป็นภาพยนตร์สั้นในการส่งรายงานวิชาประวัติศาสตร์การแพทย์

ขณะเดียวกันยังได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนนานาชาติในโรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า (KMIDS) ซึ่งถือเป็นโรงเรียนสาธิตแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้บรรจุหลักสูตรนานาชาติ โดยมุ่งเน้นไปที่การเรียนการสอนด้าน Science technology เพื่อสร้างให้เด็กไทยได้มีความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกับนักเรียนนานาชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง Top 10 ของโลก และเมื่อเรียนจบในระดับปริญญาก็จะกลับมาทำงานและนำความรู้มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศไทยต่อไป

"คำพูดที่ว่าค่อยเป็นค่อยไป หรือไม่มีการปรับตัว หรือช้าไปเพียงวันละ 1 นาที อาจทำให้ธุรกิจไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ และจะทำให้ธุรกิจเกิดการล่มสลายได้เหมือนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในอดีตที่เคยโด่งดังระดับโลก อย่าง โกดัก โนเกีย และโมโตโรล่า ที่ถูกเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ ฉะนั้นจะต้องไม่หยุดนิ่งและต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าคู่แข่งของเราเป็นใครและใครเป็นคู่แข่งของเรา" ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

ทั้งนี้ งานดังกล่าวจัดขึ้นโดยสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย ร่วมกับ มูลนิธิสมาคมนักเรียนรัฐบาลไทย ในพิธีมอบเข็มเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติคุณนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่น และนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดาวรุ่ง ประจำปี พ.ศ. 2562 โดยมี ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "Shaping Thailand's Education in the Age of the Fourth Industrial Revolution" ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8111 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/kmitlofficial

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ