DÉJÀ VU: Your Past is My Future นำเสนอบริบทใหม่ของจินตนาการผ่านเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางแสดงธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ทั้งยังมีการชี้ให้เห็นถึงการแบ่งแยกทางวัฒนธรรมของตะวันออกและตะวันตกที่ชัดเจน ก่อนหน้านี้เขาได้จัดแสดงผลงานชุดดังกล่าวมาแล้ว ณ Fondazion Made in Cloister แห่งเมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลีในเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ผลงานดังกล่าวได้แรงบันดาลใจมาจากการเดินทางเผยแผ่ศาสนาของพระพุทธเจ้าและพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ที่เป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี
ชื่อผลงาน Dejà Vu มาจากความทรงจำและการรำลึกถึงอดีตของนที ซึ่งเขามักจะมองเห็นภาพที่แลดูเลือนรางในความทรงจำและจิตใต้สำนึกที่ก่อตัวขึ้นจนกลายเป็นวัตถุดิบให้เขานำมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน
นิทรรศการที่จัดแสดงในเมืองเนเปิลส์ก่อนหน้านี้ทำให้นทีรู้สึกเข้าถึงแรงบันดาลใจในการถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางแสดงธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าและพระบรมสารีริกธาตุท่ามกลางรูปปั้นหินอ่อนยุคกรีก-โรมันอันน่าประทับใจจากพิพิธภัณฑ์โบราณคดี ซึ่งนำไปสู่การตั้งข้อสันนิษฐานว่าพระพุทธเจ้าน่าจะเคยเสด็จมาที่นี่ในยุคอดีต เขาผสมผสานเทคนิคต่าง ๆ เพื่ออธิบายความคิดเชิงนามธรรมด้าน 'เวลา' และ 'พื้นที่' พร้อมเชื่อมโยงระหว่างรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า (โดยใช้เทคนิคโมเสกสไตล์เนเปิลแบบโบราณ) และพระวัจนะของพระพุทธเจ้า (ผ่านเทคนิครอยขูดขีดเขียนบนผนังและสุนทรียศาสตร์แห่งการเคลือบเงาแบบไทย) นิทรรศการดังกล่าวถือเป็นความพยายามของนทีในการสังเคราะห์เรื่องเล่าของทางตะวันออกและตะวันตก รวมทั้งค้นหาคำตอบทางประวัติศาสตร์ที่มีการเล่าเรื่องราวเป็นเส้นตรง ทั้งที่เกี่ยวข้องกับอารยธรรมโบราณอันยิ่งใหญ่และความเชื่อต่าง ๆ ทางศาสนา
Dejà Vu เป็นการขยายแนวคิดและกระบวนการทำงานของนทีจากนิทรรศการเนเปิลส์ ด้วยความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นของเขาเกี่ยวกับผลงานดังกล่าวทำให้เขาได้พัฒนารูปแบบการนำเสนอและเทคนิคใหม่ รวมทั้งขยายขอบเขตทางภูมิศาสตร์และโบราณคดีให้กว้างขึ้น ดังนั้นผลงานดังกล่าวนี้จึงเป็นการค้นพบใหม่ ภายใต้มิติแห่งความหลากหลายทางภาษาศาสตร์และนิรุกติศาสตร์ ได้แก่ ละติน พราหมณ์ และภาษาบาลี-สันสกฤต – ซึ่งเป็นภาษาโบราณที่ใช้ในพิธีกรรมของพุทธศาสนานิกายเถรวาท นทีได้ใช้จินตนาการเพื่อถ่ายทอดให้เห็นถึงเส้นแบ่งระหว่างการเล่าเรื่องของตะวันออกและตะวันตก ทั้งยังเผยให้เห็นว่าประวัติศาสตร์เกิดขึ้นได้ผ่านกระแสการเปลี่ยนแปลง การดูดกลืน และการพลิกผันที่เกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กับพลังทางสังคมและปัจจัยต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อชีวิต
นที อุตฤทธิ์ (เกิดเมื่อปี 2513 ที่กรุงเทพฯ) เข้าศึกษาในคณะวิจิตรศิลป์ในปี 2530 และจบการศึกษาด้านศิลปะการออกแบบกราฟิกจากที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี 2534 นิทรรศการเดี่ยวของเขาประกอบด้วย Optimism is Ridiculous: the Altarpieces ณ The Private Museum ในสิงคโปร์ (2561); Optimism is Ridiculous: the Altarpieces ณ หอศิลป์แห่งชาติอินโดนีเซีย กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย (2560); Optimism is Ridiculous: the Altarpieces ณ พิพิธภัณฑ์อายาลา กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ (2560); Illustration of the Crisis ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กรุงเทพฯ (2556); After Painting ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ สิงคโปร์ (2553) และ The Amusement of Dreams, Hope and Perfection ณ ศูนย์ศิลปะแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ (2550) นิทรรศการกลุ่มล่าสุด ได้แก่ Beyong Bliss ณ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (2561); Contemporary Chaos ณ Vestfossen Kunstlaboratorium ประเทศนอร์เวย์ (2561);Thai Eye ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และ Saatchi Gallery ณ ลอนดอน สหราชอาณาจักร (2559/2558); Art of ASEAN ณ พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ของธนาคารเนการา กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย (2558); Time of Others ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยโตเกียว ญี่ปุ่น (2558) และ Asian Art Biennale 2013: Everyday Life ณ พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์แห่งชาติไต้หวัน (2556) ผลงานของเขารวมอยู่ในคอลเล็กชั่นที่โด่งดังมากมาย เช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หอศิลป์ควีนส์แลนด์และแกลลอรีศิลปะสมัยใหม่ เมืองบริสเบน พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ รวมถึงคอลเล็กชั่นส่วนตัวในยุโรปและเอเชีย
ริชาร์ด โคห์ ไฟน์ อาร์ต ก่อตั้งขึ้นในปี 2548 โดยมีพื้นที่จัดแสดงงานในกัวลาลัมเปอร์ กรุงเทพฯ และสิงคโปร์ริชาร์ด โคห์ ไฟน์ อาร์ต มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนแพลตฟอร์มระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ภายใต้ความเชื่อหลักมี่มุ่งพัฒนาอาชีพของศิลปิน แกลเลอรียังมุ่งเน้นจัดแสดงนิทรรศการอย่างสม่ำเสมอ เผยแพร่สิ่งพิมพ์และสื่อดิจิทัลและสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศกับแกลเลอรีอื่น ๆ ริชาร์ด โคห์ ไฟน์ อาร์ต มีส่วนร่วมกับชุมชนศิลปะโดยมีจุดประสงค์ในการพัฒนาวาทกรรมในระดับภูมิภาคและระหว่างวัฒนธรรม
หมายเหตุ: สงวนลิขสิทธิ์รูปภาพทั้งหมด