ด้านโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง (เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ และคนกรีดยาง) ที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทั้งที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ (บัตรสีเขียว) และไม่มีเอกสารสิทธิ์ (บัตรสีชมพู) ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 ตามมติการประชุมคณะรัฐมนตรีตามที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติเป็นผู้เสนอ จะใช้ราคาอ้างอิงที่กำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดราคากลางอ้างอิง ซึ่งมีเกษตรกรชาวสวนยางร่วมเป็นกรรมการในชุดนี้ มาคิดส่วนต่างจากราคาตลาดเพื่อชดเชยให้เกษตรกรชาวสวนยาง โดยงบประมาณของโครงการฯ ที่ใช้จ่ายชดเชยให้เกษตรกรเป็นเงินงบกลางของรัฐบาลส่วนเงินบริหารโครงการเป็นเงินจากกองทุนพัฒนายางพารามาตรา 49 (3) นอกเหนือจากโครงการดังกล่าว กยท. ได้ดำเนินการส่งเสริม และสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยาง/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางผ่านมาตรา 49 (3) ยึดตามระเบียบ ข้อบังคับ โดยอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมาโดยตลอด ทั้งนี้ เกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางทุกกลุ่มมีสิทธิ์เข้าถึง เข้ารับการช่วยเหลือหรือเข้าร่วมโครงการต่างๆที่จะเกิดในอนาคตได้ โดยขอให้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางกับ กยท. โดยสามารถติดต่อการยางแห่งประเทศไทยทุกสาขาในพื้นที่ที่มีสวนยางตั้งอยู่
รักษาการผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท. ให้ความสำคัญในการปฏิบัติงานของพนักงาน ซึ่งต้องอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานและลูกจ้างประจำ และข้อบังคับคณะกรรมการ กยท. ว่าด้วยวินัยและการลงโทษพนักงานและลูกจ้างประจำ มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในทุกระดับ หากพบการทุจริตก็จะมีการสอบสวนและลงโทษตามกระบวนการทางวินัยของ กยท.
"รัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กยท.มีความมุ่งมั่นเต็มที่ที่จะช่วยแก้ปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางมาโดยตลอด แต่อาจจะมีเงื่อนไขปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่ส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหาจึงอยากได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางในการแก้ปัญหาต่างๆ ให้สำเร็จตามที่พี่น้องเกษตรกรคาดหวังไว้"