ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้นได้ให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการปฏิบัติตน หากอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 สูง ที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ เด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ผู้ที่มีปัญหาในโรคทางเดินหายใจ หรือมีโรคประจำตัว ผู้ที่ทำงานในที่กลางแจ้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปริมาณ PM 2.5 มากกว่า 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ควรหลีกเลี่ยงการทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้งหากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้ง ควรสวมใส่หน้ากากอนามัย และไม่อยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที
นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่าสนอ. ยังได้เตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยในสถานการณ์ที่มีค่าฝุ่นละอองอยู่ในระดับไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ได้ให้ความรู้ในการป้องกันและดูแลตนเองจากภัยหรืออันตรายที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน แก่ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงเฝ้าระวังติดตามเป็นพิเศษในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียงเด็ก ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด และหญิงตั้งครรภ์ ส่วนในสถานการณ์ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานมากกว่า 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร บุคลากรของศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. และอาสาสมัครสาธารณสุขจะให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากฝุ่นละอองแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และเมื่อค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก อยู่ในระดับ 50 - 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จะออกหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ รวมทั้งจะติดตามเยี่ยมผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเมื่อค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก อยู่ในระดับ 76 - 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 3 วัน