WWF ร่วมกับมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียเปิดงานวิจัยล่าสุด "No Plastic in Nature: Assessing Plastic Ingestion from Nature to People" ธรรมชาติต้องปราศจากพลาสติก: ค้นหาปริมาณพลาสติกจากแหล่งธรรมชาติสู่วงจรบริโภคของมนุษย์ พบมนุษย์อาจบริโภคพลาสติกขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกายประมาณ 5 กรัมต่อสัปดาห์ เทียบเท่ากับบัตรเครดิต 1 ใบ คิดเป็นปริมาณพลาสติกกว่า 2,000 ชิ้น หรือ 21 กรัมต่อเดือน 250 กรัมต่อปี!
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลสำนักงานใหญ่ หรือ WWF International เปิดเผยว่า งานวิจัยฉบับนี้ จัดทำขึ้นโดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ในออสเตรเลีย โดยถือเป็นงานประมวลผลข้อมูลเชิงวิชาการเป็นครั้งแรกของโลก ที่รวบรวมมาจากข้อมูลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคไมโครพลาสติกในมนุษย์ทั้งสิ้นกว่า 50 ฉบับ การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เกิดการศึกษาต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเข้าใจ และค้นหาความจริง ถึงผลกระทบของพลาสติกที่มีต่อร่างกาย และสุขภาพของมนุษย์
นายมาร์โค แลมเบอตินี่ ผู้อำนวยการทั่วไป WWF International กล่าวว่าผลการวิจัยเป็นการเน้นย้ำให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วน ที่ทุกภาคส่วนจะต้องก้าวเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษของขยะพลาสติกอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลของแต่ละประเทศที่เป็นผู้ควบคุมและออกกฎหมาย ก่อนที่วงจรห่วงโซ่อาหารของมนุษย์จะปนเปื้อนด้วยไมโครพลาสติกจนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะปัจจุบัน การปนเปื้อนของพลาสติก และไมโครพลาสติกในมหาสมุทร เกิดจากการทิ้งขยะที่สร้างขึ้นบนบกลงสู่ทะเล คิดเป็นปริมาณมากกว่า 8 พันล้านตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการทิ้งขยะจากรถบรรทุกลงสู่ทะเล 1 คันในทุกๆ 1 นาที
"งานวิจัยฉบับนี้เป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดเชิงวิทยาศาสตร์ว่า เราไม่มีเวลาอีกต่อไปแล้วที่จะลงมือปฏิบัติ ผมถือว่าเป็นการส่งสัญญาณไปยังหน่วยงานภาครัฐของทุกประเทศ ให้ก้าวเข้ามาทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม มลพิษพลาสติกไม่ได้คุกคามเพียงแค่ระบบนิเวศทางทะเล สัตว์น้ำสายพันธุ์ต่างๆ เท่านั้น แต่ได้คืบคลานเข้ามาสู่วงจรห่วงโซ่อาหารของมนุษย์แล้ว เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เรากำลังบริโภคพลาสติกแบบไม่รู้ตัวอยู่ทุกวัน" ผู้อำนวยการทั่วไป WWF International กล่าว
นางสาวพิมพ์พาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย หรือ WWF Thailand กล่าวว่า ปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายพยายามหาทางแก้ไข ในส่วนของภาคประชาชน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาจต้องใช้เวลา ในส่วนของภาครัฐก็เป็นสัญญาณที่ดี ที่รัฐบาลมีความจริงจังในการทำงานอย่างต่อเนื่อง "ที่ผ่านมาเราได้เห็นว่าสัตว์บกและสัตว์น้ำมากมายต้องตายลงเพราะขยะพลาสติกสร้างปัญหาให้กับระบบทางเดินอาหาร เพราะฉะนั้นการบริโภคพลาสติกเข้าไป แม้จะเป็นพลาสติกขนาดเล็กที่ปะปนมากับอาหาร หรือน้ำดื่ม ในระยะยาวไม่น่าจะเป็นผลดีต่อสุขภาพ"
ทางด้านนางสาวดวงกมล วงศ์วรจรรย์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาดเพื่องานอนุรักษ์ WWF ประเทศไทยกล่าวถึงการรณรงค์ภายใต้โครงการ Your Plastic Diet หรือ "กินอยู่ไม่รู้ตัว" ว่า กิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้เกิดขึ้นบนข้อสรุปของงานวิจัย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สังคมรับรู้ว่าพลาสติกสร้างผลกระทบต่อสัตว์ต่างๆ ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยจนเกิดการสูญเสียชีวิต แต่ยังไม่มีใครเคยทำการศึกษาอย่างจริงจังว่า พลาสติกจะสร้างผลกระทบให้กับมนุษย์ได้มากเท่าใด
"นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา เมื่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีเฟื่องฟู ทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นกว่าปริมาณที่เคยผลิตทั้งหมดในทศวรรษก่อนหลายเท่าตัว โดยอัตราการผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4% ซึ่งกว่า 75% พลาสติกที่ผลิตออกมาเพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภคของมนุษย์กลายเป็นขยะ และ 1 ใน 3 ของขยะพลาสติกที่เกิดจากการใช้งานของมนุษย์รั่วไหลลงสู่มหาสมุทร กระบวนการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพก่อให้เกิดการปนเปื้อนของพลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลาสติกที่แตกตัวเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก และปะปนเข้าสู่วรจรห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเล ซึ่งเมื่อมนุษย์บริโภคอาหารทะเล ไมโครพลาสติกเหล่านี้ก็จะเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ในที่สุด"
ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาดเพื่องานอนุรักษ์ WWF ประเทศไทยระบุว่าการรณรงค์ในกิจกรรมกินอยู่ไม่รู้ตัว ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน โดยดารานักแสดงหลายคนได้ร่วมกันถ่ายภาพขณะกำลังรับประทานผลิตภัณฑ์จากพลาสติก พร้อมลงข้อความประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนไทย ให้เกิดความเข้าใจว่า ปัญหาขยะพลาสติกไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปรียบเทียบให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า ปริมาณพลาสติกที่อาจปนเปื้อนสู่ระบบทางเดินอาหารของมนุษย์นั้น เทียบเท่ากับการรับประทานบัตรเครดิต 1 ใบ ต่อสัปดาห์ ก็ทำให้เข้าใจง่าย และเกิดความตื่นตัวมากขึ้น
"พลาสติกมีอยู่ทุกที่ ในน้ำที่เราดื่ม ในอากาศที่เราหายใจ ในอาหารที่เรารับประทาน วันนี้นอกจากการที่เราจะลดการใช้ถุงพลาสติกตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว การสร้างขยะให้น้อยลงก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น"
ทั้งนี้ WWF ยังเปิดตัวเว็บไซต์ที่ประเมินปริมาณพลาสติกที่เราบริโภคเข้าไปในแต่ละวัน โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.yourplasticdiet.org และร่วมลงชื่อสนับสนุนโครงการ วันนี้มีผู้ลงชื่อร่วมกับ WWF แล้วทั่วโลกมากกว่า 1.5 ล้านคน
โครงการรณรงค์ต้านมลภาวะพลาสติก "กินอยู่ไม่รู้ตัว: Your Plastic Campaign"
Your Plastic Diet กินอยู่ไม่รู้ตัว เป็นการรณรงค์ที่ใช้ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ในการประเมินปริมาณพลาสติกที่มนุษย์อาจบริโภคเข้าไป ในแต่ละสัปดาห์ผ่านอากาศที่หายใจ น้ำดิ่ม หรืออาหารที่รับประทาน โดยมีการสำรวจจากผลงานวิจัยตั้งต้นฉบับก่อนกว่า 50 ชิ้นงานทั้นในสหรัฐอเมริกา อินเดีย อินโดนิเซีย และในยุโรป พบไมโครพลาสติกปนเปื้อนในพลาสติก รวมไปถึงอาหารทะเลจำพวกหอย กุ้ง ปลาทะเล และเบียร์ด้วย งานวิจัยระบุว่า ค่าเฉลี่ยของพลาสติกขนาดจิ๋วที่มนุษย์บริโภคเข้าไปอาจมีจำนวนมากถึงเกือบ 2,000 ชิ้นต่อสัปดาห์
WWF ประเทศไทยจึงรณรงค์ผ่านภาคประชาสังคม เปิดข้อเท็จจริงจากงานวิจัยฉบับดังกล่าว สร้างความตระหนักรู้ให้กับสาธารณชน และเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่การลดขยะพลาสติกในระดับประเทศได้ในอนาคต ทั้งนี้ WWF ยังได้เรียกร้องไปยังภาครัฐให้ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกอย่างจริงจัง และกำหนดทิศทางในการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับประเทศ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งร่วมกับสมาชิกประชาคมอาเซียนที่ได้เดินหน้าแสดงเจตนารมย์ในการทำงานแก้ไขปัญหาพลาสติกแล้ว อาทิ มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ เพื่อแสดงเจตจำนงในการทำงานร่วมกับนานาประเทศและองค์การสหประชาชาติต่อไป
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF เป็นหนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ที่สุดระดับโลกที่มุ่งมั่นทำงาน และอุทิศเพื่องานด้านการอนุรักษ์ ปัจจุบัน WWF มีผู้สนับสนุนมากกว่า 5 ล้านคนจากทั่วโลกและเครือข่ายขององค์กรทำงานร่วมกันในกว่า 100 ประเทศ พันธกิจของ WWF คือการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะธรรมชาติของโลกในเชิงลบ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของโลกที่มีมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างมีความสมดุลด้วยการอนุรักษ์สภาพชีววิทยาที่หลากหลาย และมุ่งทำงานเพื่อรักษาทรัพยากรด้านพลังงานให้ถูกนำกลับมาใช้งานอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานเพื่อหยุดยั้งมลพิษและการบริโภคที่เกินพอดี สามารถศึกษาข้อมูลการทำงานของเราเพิ่มเติมได้ที่ www.wwf.or.th