นายพรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ผู้บริหารหนุ่มไฟแรง เปิดเผยว่า สำหรับงานในความรับผิดชอบในปัจจุบันที่ทำอยู่ที่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ ดีป้า คือ การกำกับดูแลกลุ่มงานบริหารสำนักงาน และกำกับกลุ่มงานกิจการสาขาที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคต่างๆ โดยพันธกิจที่สำคัญคือ การขับเคลื่อนและผลักดันในเรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัลตามภารกิจของสำนักงานในภูมิภาค ซึ่งมุ่งเน้นการทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการเชิงพื้นที่ในแต่ละสาขา
ทั้งนี้ปัญหาที่สำคัญในการขับเคลื่อนและการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค จะเป็นเรื่องของการรับรู้และการสร้างความเข้าใจ การสร้างความตระหนักให้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่จะเข้ามามีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งทุกวันนี้ก็จะเห็นได้ว่ากระแสของโลกในเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจใหม่ทั้งหมด โดยในการทำงาน การเร่งรัดการส่งเสริม หรือสร้างความเข้าใจในระดับภูมิภาคยังทำได้ช้า และต้องใช้เวลา เนื่องจาก ความเข้าใจหรือความตระหนักในความสำคัญของเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับภูมิภาคว่าจะเข้ามามีบทบาท หรือมีประโยชน์ต่อการปรับหรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อให้สามารถอยู่รอดในระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปได้อย่างไรยังมีอยู่ไม่มากนัก
จากปัจจัยดังกล่าว การเร่งรัดการส่งเสริม หรือกระตุ้นให้เกิดการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น การทำงานหลักๆ จึงแบ่งได้เป็น 2 มิติ คือ มิติการสร้างการรับรู้ผ่านการขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่สำคัญ ตามเมกะโปรแกรมที่รัฐบาลมอบหมาย คือเรื่องของเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อให้ทางผู้บริหารระดับสูง หรือผู้บริหารระดับจังหวัด มีความเข้าใจ และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญว่าเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องปรับเปลี่ยน หรือต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง
อีกมิติคือ การขับเคลื่อนและสร้างการรับรู้ที่มุ่งเน้นให้เกิดการลงมือปฎิบัติจริงผ่านมาตรการการส่งเสริมต่างๆ ที่ทางดีป้า ได้จัดทำขึ้น อาทิ มาตรการการส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น Digital Startup Fund หรือ การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมประยุกต์ใช้ดิจิทัล depa Transformation Fund and Mini Voucher for SMEs เป็นต้น
โดยการดำเนินงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในแต่ละภูมิภาค ก็มีการขับเคลื่อนที่เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น อาทิ จังหวัดภูเก็ต ในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล สำหรับการจัดการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและความปลอดภัยของเมือง หรือที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการนำร่องในการยกระดับชุมชนให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลโดยการใช้โดรนเพื่อการเกษตร ภาคอีสานจังหวัดขอนแก่น กับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งนอกจากกลุ่มจังหวัดเหล่านี้ที่ได้มีการนำเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาและปรับใช้ให้กับจังหวัดแล้ว ปัจจุบันได้ส่งผลให้มีการขับเคลื่อนเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล ขยายผลต่อไปยังจังหวัดใกล้เคียงตามภูมิภาคต่าง ๆ เพิ่มเติมมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ที่จังหวัดต่าง ๆ ตามภูมิภาคเริ่มมีการขับเคลื่อนและเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และระบบเศรษฐกิจของจังหวัดให้สามารถแข่งขัน และอยู่รอดในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการหรือประชาชน ที่สนใจในการนำเรื่องของเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ หรือต้องการคำปรึกษาและการส่งเสริมสนับสนุนจากทางดีป้า ก็สามารถเข้ามาติดต่อได้ตามสาขาที่มีอยู่ทั่วภูมิภาค ทั้ง เชียงใหม่, พิษณุโลก, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, ภูเก็ต, สงขลา และชลบุรี ทั้งนี้เพื่อเป็นการต่อยอดและช่วยส่งเสริมยกระดับการขับเคลื่อนเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป