นายปรเมศวร์ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้สนับสนุนนโยบายการพัฒนาสู่ประเทศไทย ๔.๐ ของรัฐบาล โดยการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรมและบริการที่มีมูลค่าสูงโดยเฉพาะใน ๕ ด้าน ได้แก่ อาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น มวยไทย และเทศกาล ประเพณี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างอาชีพและรายได้สู่ประชาชน ชุมชนและประเทศ รวมทั้งวธ.มีนโยบายหลักในการสืบสาน รักษา และต่อยอดประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้คงอยู่ โดยเฉพาะการส่งเสริมการจัดงานประเพณีและเทศกาลศิลปวัฒนธรรมของไทย ซึ่งวธ.มุ่งเน้นให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม สร้างรายได้และความภาคภูมิใจในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนานาชาติและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ซึ่งจ.ยโสธรเป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรม ประเพณี ที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน และสามารถพัฒนาสร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมามีประเพณีที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง อาทิ ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นต้น
นายปรเมศวร์ กล่าวอีกว่า ดังนั้น เพื่อเป็นการขับเคลื่อนตามนโยบายดังกล่าว วธ.จึงบูรณาการร่วมกับจังหวัดยโสธรและภาคีเครือข่ายด้านวัฒนธรรมจัดโครงการพัฒนาและยกระดับงานสืบสานประเพณีบุญคูณลาน ตำนานข้าวอินทรีย์ วิถีวัฒนธรรมยโสธร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๒๐ มกราคม ๒๕๖๓ ณ บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอกุดชุม จ.ยโสธร โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย พิธีบายศรีสู่ขวัญข้าว, การประกวดกลองยาวระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือและระดับจังหวัด, การสาธิตขบวนแห่เกวียนโบราณพร้อมรีวิวประกอบขบวนตำนานข้าวอินทรีย์ ๑๐ ขบวน ได้แก่ ๑.ขบวนแสดงตำนานข้าวอินทรีย์ ๒.ขบวนผีตาแฮก ๓.ขบวนบูชาข้าว ๔.ขบวนกุ้มข้าวใหญ่ ๕.ขบวนสู่ขวัญข้าว ๖.ขบวนพระแม่โพสพ ๗.ขบวนข้าวอินทรีย์ ๘.ขบวนผ้าฝ้าย ผ้ายกดอก ๙.ขบวนทอเสื่อกก และ๑๐.ขบวนผลไม้ และธัญพืชอินทรีย์ นอกจากนี้ มีกิจกรรมทำปราสาทข้าวพร้อมประดับตกแต่งสวยงาม กิจกรรมวิถีอีสาน ประกอบด้วย การแข่งขันตีข้าว, หุงข้าว, บีบข้าวปุ้น, ส้มตำ, ตำข้าว, ดีดพิณ,เป่าแคน, สะนูว่าว, เป่าโหวต, การแสดงแสง สี เสียง, ขบวนนางรำเซิ้งหน้าขบวนแห่เกวียนโบราณ และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้ มีพิธีเปิดงานฯ ในวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๗.๐๐ น. โดยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน
สำหรับ ประเพณีบุญคูณลาน หรือที่เรียกว่า "บุญกุ้มข้าวใหญ่" หรือ "บุญคูณข้าว"เป็นประเพณีที่อนุรักษ์สืบสาน พัฒนาและสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันของแต่ละท้องถิ่น เป็นประเพณีที่ผสมผสานความเชื่อระหว่างพระพุทธศาสนาและลัทธิพราหมณ์ จัดขึ้นในราวเดือนมกราคม (เดือนยี่) เป็นพิธีทำบุญเพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่นาข้าวและลานข้าวหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งถือเป็นพิธีที่มีความสำคัญต่อชาวนาและคนในชุมชน เนื่องจากคนในชุมชนต้องบริโภคข้าว รวมทั้งข้าวเป็นแหล่งสร้างอาชีพและรายได้ของคนในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งอ.กุดชุม เป็นต้นแบบในการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีนี้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยมีการจัดกิจกรรมในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ พิธีบูชาพระแม่โพสพ ขบวนแห่ผีตาแอก ขบวนแห่กุ้มข้าวใหญ่ และกิจกรรมพาแลง เป็นต้น
ทั้งนี้ วธ.ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศร่วมงานประเพณีบุญคูณลาน ตำนานข้าวอินทรีย์ วิถีวัฒนธรรมยโสธร เพื่อสืบสานประเพณีและอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป