นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้ออกหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ เพื่อให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 และแจกหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง พร้อมสาธิตวิธีการใส่ที่ถูกต้อง รวมถึงได้เตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยในสถานการณ์ที่มีค่าฝุ่นละอองอยู่ในระดับไม่เกิน 50ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ได้ให้ความรู้ในการป้องกันและดูแลตนเองจากภัยหรืออันตรายที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน แก่ประชาชน รวมถึงเฝ้าระวังติดตามในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง เด็ก ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด และหญิงตั้งครรภ์ส่วนในสถานการณ์ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานมากกว่า 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร บุคลากรของศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. และอาสาสมัครสาธารณสุข จะให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากฝุ่นละอองแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และเมื่อค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก อยู่ในระดับ 50 - 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จะออกหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ รวมทั้งจะติดตามเยี่ยมผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเมื่อค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก อยู่ในระดับ 76 - 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 3 วัน
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า ในส่วนของ สนย. ได้แจ้งให้เจ้าของอาคาร อาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างให้ปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขในการก่อสร้างตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และจะต้องไม่กระทำการใด ๆ อันอาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน โดยจะต้องฉีดพ่นละอองน้ำบนอาคารและบริเวณโดยรอบสถานที่ก่อสร้างอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ รวมทั้งได้กำชับให้เจ้าของอาคารที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ปฏิบัติตามความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการอย่างเคร่งครัด ส่วนอาคารที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและใช้งานแล้ว ได้ขอความร่วมมือให้ติดตั้งระบบสปริงเกอร์หัวฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณดาดฟ้าอาคาร เพื่อพ่นละอองน้ำดักจับฝุ่นละอองอีกด้วย