“โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ” คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

พฤหัส ๑๖ มกราคม ๒๐๒๐ ๐๙:๔๒
เมื่อเร็วๆนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และรองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ได้นำทีมคณะนักวิจัย "โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ" แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

รายนามผู้แถลงข่าวประกอบด้วย

1.ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์

2.รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการวิจัย

3.รองศาสตราจารย์ ดร.วิไลวรรณ ทองเจริญ รองคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ผู้จัดการโครงการวิจัย

4.อาจารย์มัตติกา ใจจันทร์ อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย

5.ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแห่งความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกสมาคมวิศวกรเครื่องกลไทย ที่ปรึกษาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหัวหน้าโครงการวิจัยย่อย

6.นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เอ ไอ เอส

คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในฐานะของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา มีภารกิจหลักในการจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตบัณฑิต ทำการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การให้บริการวิชาการ และการทะนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมดังเช่นสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ ทั่วประเทศ สำหรับภารกิจด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมนั้น เป็นภารกิจที่คณะพยาบาลศาสตร์ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ตามพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงมีพระประสงค์ที่จะให้การผลิตบัณฑิตทุกสาขาของราชวิทยาลัยฯ มีศักยภาพโดดเด่นด้านการวิจัย คณะพยาบาลศาสตร์เองได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาความรู้และนวัตกรรมด้วยการใช้กระบวนการวิจัย เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมงานบริการสุขภาพให้มีคุณภาพและมาตรฐาน เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น

สำหรับ "โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการดูแลและส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ" ที่คณะพยาบาลศาสตร์ได้นำเสนอเพื่อดำเนินการในครั้งนี้ เกิดจากข้อมูลสำคัญที่รวบรวมได้จากผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ต้องเผชิญกับปัญหาเมื่อมีประชาชนเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินและรุนแรงที่ต้องมีการปรึกษาและส่งต่อเพื่อการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วนในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงทั้งด้านบุคลากรและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ดังเช่นในพื้นที่หลังเขื่อนภูมิพล ตำบลบ้านนา จังหวัดตาก และพื้นที่โดยรอบในอำเภอสามเงา ซึ่งคณะพยาบาลศาสตร์ได้ข้อมูลจากการมอบหมายให้ อาจารย์มัตติกา ใจจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลชุมชน เดินทางไปสำรวจพื้นที่และวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดในพื้นที่ ประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เจ้าหน้าที่อุทยานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ปลัดอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมณฑลทหารบกที่ 310 ได้ข้อมูลเบื้องต้นว่า

บริเวณหลังเขื่อนและพื้นที่โดยรอบมีประชากรโดยรวมประมาณ 35,000 คน ในพื้นที่นี้ นอกจากจะไม่มีสัญญาณโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มที่อยู่ในหมู่บ้านหลังเขื่อน ซึ่งมีจำนวน 2,051 คน ยังไม่มีสัญญาณโทรคมนาคมใด ๆ อยู่เลย และยังไม่มีระบบการส่งต่อสำหรับประชาชนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ส่งผลให้เกิดความล่าช้า ยากลำบาก และความเสี่ยงต่อผู้ป่วยและพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ในการส่งต่อด้วย เหตุการณ์จริงที่พบในพื้นที่ดังกล่าวคือ เมื่อประชาชนเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินและต้องรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลประจำพื้นที่ ต้องใช้วิทยุสื่อสารเพื่อขอคำปรึกษาไปยังแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ถึง 3 ต่อ และการตอบกลับ ก็ต้องใช้วิทยุสื่อสารอีก 3 ต่อเช่นกัน ทำให้เกิดความล่าช้าในการรับส่งข้อมูล และเกิดความเสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ และเมื่อต้องการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อการรักษาในโรงพยาบาล ด้วยลักษณะของพื้นที่ยังไม่มีการคมนาคมทางบก วิธีการเดินทางเพื่อลำเลียงผู้ป่วยมีทางเดียวคือ การเดินทางทางน้ำ โดยใช้เรือลำเลียงของท้องถิ่นเท่าที่มีอยู่ ซึ่งใช้เวลาระหว่าง 1 ถึง 5 ชั่วโมง ตามสมรรถนะของเรือ เรือที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นเรือหางยาว ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยระหว่างการลำเลียง และหากต้องทำการรักษาพยาบาลฉุกเฉินระหว่างการเดินทาง เช่นการนวดหัวใจ ยิ่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก หรือบางครั้งไม่สามารถกระทำได้

ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในพื้นที่จึงมีความเห็นพ้องว่า สิ่งที่เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่เมื่อเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินคือ ระบบการสื่อสาร และระบบการส่งต่อทางเรือที่มีประสิทธิภาพ และด้วยสัมพันธภาพที่เข้มแข็ง และความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ที่มีต่ออาจารย์มัตติกา ใจจันทร์ ทำให้ทุกคนในชุมชนยินดีให้ความร่วมมือและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา อาจารย์มัตติกา จึงสามารถนำผู้บริหารและวิศวกรชำนาญการจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เข้าไปร่วมประเมินความเป็นไปได้ในการติดตั้งระบบสัญญาณโทรคมนาคมในพื้นที่ และให้การสนับสนุนจัดตั้งระบบสัญญาณโทรคมนาคมเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนาระบบการรักษาพยาบาลประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินในพื้นที่หลังเขื่อนภูมิพลและบริเวณใกล้เคียงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับเรื่องการส่งต่อ คณะพยาบาลศาสตร์ ได้รับความอนุเคราะห์จาก ศาสตราจารย์ ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแห่งความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกสมาคมวิศวกรเครื่องกลไทย และที่ปรึกษาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมเครื่องกล เข้าร่วมเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยย่อยในการพัฒนาเรือฉุกเฉินต้นแบบ ที่นอกจากจะใช้ในการลำเลียงประชาชนแล้ว ยังมีวัสดุอุปกรณ์และเวชภัณฑ์เพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลและช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินระหว่างการนำส่งได้

ความโดดเด่นของโครงการวิจัยนี้ คือ เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาวิชา ทั้งพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและในโรงพยาบาลชุมชน วิศวกร แพทย์ ทหารในพื้นที่ ผู้แทนอุทยาน ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น นักอุทกศาสตร์ บริษัทเอกชนด้านการสื่อสาร และเป็นความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในพื้นที่ อันจะทำให้เกิดประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งเป็นการร่วมกันแก้ปัญหาและพัฒนารูปแบบการบริการสุขภาพให้แก่ประชาชนได้อย่างยั่งยืน

ในการนี้ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ เห็นถึงความสำคัญของโครงการวิจัยเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และได้กล่าวสรุปในการแถลงข่าวว่า ยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้บุคลากรของคณะพยาบาลศาสตร์ ได้ปฏิบัติงานวิจัยนี้สำเร็จอย่างราบรื่น เพราะผลลัพธ์ของงานวิจัยจะเกิดโครงการต้นแบบของการจัดระบบบริการและส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ ซึ่งสามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อสนองพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คือ "เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ
๑๖:๑๘ ทรู คอร์ปอเรชั่น เตรียมเปิดจองซื้อหุ้นกู้ชุดใหม่รับปีมะเส็ง ตอบโจทย์นักลงทุนที่มองหาโอกาสสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคง
๑๖:๒๕ วัน แบงค็อก เตรียมเฉลิมฉลองเคาท์ดาวน์ศักราชใหม่สุดยิ่งใหญ่
๑๖:๐๖ EXIM BANK โชว์ศักยภาพ SFI แห่งแรกได้รับมาตรฐานสากล ISO 14064-1:2018 เดินหน้าบทบาท Green Development Bank
๑๖:๑๙ ซานตาคลอส ฟลายอิ้ง ส่งความสุขในเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๑๖:๔๓ Spacely AI คว้ารางวัลที่สาม ในการแข่งขันนวัตกรรมระดับโลกของ SketchUp
๑๖:๓๒ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ทุ่มกว่า 1.6 ล้าน มอบความห่วงใย ร่วมฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังจากน้ำท่วมใหญ่
๑๖:๒๑ NRF เปิดตัว Mini C สาขาใหม่ในสหราชอาณาจักร ตอกย้ำกลยุทธ์ค้าปลีกแบบ Hub and Spoke ยอดขายทะลุเป้า พร้อมกระแสรีวิว 5 ดาวจากลูกค้า
๑๖:๓๘ บางจากฯ ร่วมสร้างสีสัน ส่งต่อสุขภาพดี ชวน เมย์ รัชนก ร่วมแข่งกีฬา Econmass Sport Day 2024
๑๖:๐๐ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เอิ้นหาพี่น้องโค้งสุดท้าย! ชวนมาม่วนซื่นส่งท้ายปี สูดอากาศดีกลางทุ่งดอกไม้บาน ชมงานศิลป์สุดอลัง พร้อมกิจกรรมม่วน ๆ ทั้งครอบครัว 2 สัปดาห์สุดท้าย