นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากข้อมูลของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และสถาบันวิจัยสังคมและประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรกว่า 67 ล้านคน ในปี 2560 มีผู้สูงอายุ (บุคคลที่มีอายุ มากกว่า 60 ปี) อยู่ราว ๆ 11.3 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 17.1 ของประชากรทั้งหมดในประเทศไทย) และคาดว่าภายใน 3 ปีข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์" คือมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20 ซึ่งนั่นหมายถึงวัยแรงงานลดลง มีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศอย่างแน่นอน ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และนโยบายของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งเน้นให้ส่งเสริมการมีงานทำที่มีคุณค่า (Decent Work) ให้คนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ดังนั้นการฝึกอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุ จึงเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่กพร.ดำเนินการ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้สูงอายุมีงานทำ อีกทั้งสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว รวมถึงเพื่อให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทำยามว่าง และป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้สูงอายุได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนในวัยที่ใกล้เคียงกัน ส่งผลให้มีสุขภาพจิตใจที่ผ่องใส
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดได้มอบหมายให้นายประทีป ทรงลำยอง รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เป็นเยี่ยมชมการฝึกในโครงการฝึกอบรมแรงงานผู้สูงอายุเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ซึ่งมีผู้สูงอายุเข้าฝึกอบรมจำนวน 20 คน ระหว่างวันที่ 9-13 มกราคม 2563 ณ วัดเทพวัน อ.เมืองพาน จ.เชียงราย โดยผู้สูงอายุจะได้รับการฝึกด้านศิลปะประดิษฐ์จากเศษวัสดุ เช่น นำซองกาแฟมาทำเป็นกล่องใส่กระดาษทิชชู กล่องใส่ของอเนกประสงค์ ตะกร้าใส่ของ หรือนำขวดพลาสติกมาทำเป็นของประดับตกแต่งบ้าน และวัสดุเหลือใช้อื่นๆ ในท้องถิ่น มาประดิษฐ์เป็นของใช้รูปแบบต่างๆ
ด้านนายประทีป ทรงลำยอง กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดเชียงรายมีประชากรกว่า 1,292,000 คน เป็นผู้สูงอายุจำนวนกว่า 214,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.56 ของประชากรในจังหวัด ซึ่งผู้สูงอายุสามารถนำความรู้และประสบการณ์ถ่ายทอดให้กับชนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี การเพิ่มพูนความรู้ในด้านดังกล่าว จะช่วยเพิ่มช่องทางให้ผู้สูงอายุมีงานทำ สามารถนำวัสดุเหลือใช้ที่มีในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นงานประดิษฐ์ในแบบต่างๆ จำหน่ายได้ทั้งในชุมชนและส่งไปขายจังหวัดอื่นได้ด้วย อาทิ กรุงเทพมหานคร
คุณยายผัดแก้ว เชื่อสุนทร เล่าว่า เคยผ่านการอบรมงานศิลปะประดิษฐ์มาหลายครั้ง แต่ละครั้งจะได้รับความรู้แตกต่างกัน และนำไปทำผลิตภัณฑ์จำหน่าย เคยทำตะกร้าใส่ของส่งไปขายที่กรุงเทพ ได้เงินมาครั้งละ 3,000 – 4,000 บาท ยายผัดแก้วยังบอกอีกด้วยว่า มีเจ้าหน้าที่ของอบต. จ้างยายไปสอนคนในหมู่บ้านอื่นๆ ด้วย ยายก็เอาความรู้จากที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงรายที่จัดวิทยากรมาสอน ไปแนะนำคนอื่นๆ ต่อ ได้บุญและมีรายได้ ที่สำคัญคือมีเพื่อนมากขึ้นทำให้ไม่เหงา