นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง จัดเตรียมเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ในการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 พร้อมรับสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน โดยดำเนินการ ดังนี้ในสถานการณ์ปกติ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อยู่ในระดับไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนัก ให้ความรู้ในการป้องกันและดูแลตนเองแก่ประชาชนในพื้นที่และเด็กนักเรียน และในสถานการณ์ที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินมาตรฐานมากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดำเนินการเฝ้าระวังประชาชนกลุ่มเสี่ยง สถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อยู่ในระดับ 50 - 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ออกหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ และเมื่อค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อยู่ในระดับ 76 - 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน ดำเนินการติดตามเยี่ยมผู้ป่วยกลุ่มสี่ยงในพื้นที่ทันที
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า สำนักการแพทย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักอนามัย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขต และหน่วยงานภายนอก จัดกิจกรรมหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ให้บริการพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากค่าฝุ่นละออง PM 2.5 รวมทั้งจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 แนวทางการป้องกันโรคที่อาจเกิดจากฝุ่น คำแนะนำวิธีปฏิบัติตนเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองสูงประชาชนสามารถ ดูได้ที่แอปพลิเคชัน BKK Connect และ FB Fanpage
สำนักการแพทย์ ส่วนของโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ได้กำชับให้ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิด เพื่อออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็นจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่นละออง PM 2.5 เกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จัดเครื่องกรองอากาศ PM 2.5 เพื่อใช้ในโรงพยาบาล จัดเตรียมยาเวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน
รวมทั้งฉีดพ่นละอองน้ำจากสปริงเกอร์บนชั้นดาดฟ้าของตึกที่ได้ดำเนินการติดตั้งไว้แล้ว เพื่อลดภาวะฝุ่นละอองในบริเวณพื้นที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ ได้เปิดบริการ Hotline 1646 สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ตอบปัญหาให้คำปรึกษาข้อมูลสุขภาพ หากเกิดอาการผิดปกติจาก PM 2.5 ต้องการพบแพทย์จะต่อสายไปยังศูนย์ BFC : Bangkok Fast & Clear ศูนย์บริหารราชการฉับไว ใสสะอาด ของแต่ละโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ต่อไป
ทั้งนี้ สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 จะมีค่าที่สูงในช่วงเวลาเช้ามืดและลดลงในช่วงสายถึงบ่าย และจะมีค่าสูงอีกครั้งในช่วงเวลากลางคืนจนถึงช่วงเช้ามืดประชาชนจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของตนเองหมั่นตรวจสุขภาพร่างกาย ตำแหน่งที่พักอาศัยหรือสถานที่ที่จะต้องเดินทางไปประกอบกิจกรรมต่างๆ เปรียบเทียบกับค่าฝุ่นเพื่อประเมินสถานการณ์ มีความตระหนักและเลือกวิธีปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมโดยไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป