ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ด้วยบทบาทของมหาวิทยาลัยมหิดลในการขับเคลื่อนเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพในเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาเซียน เป็นสิ่งที่แสดงถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยในการชี้นำสังคมที่ตอบโจทย์ให้ประชาชนได้รับความรู้ในเรื่องสุขภาวะ สามารถป้องกันตัวเองไม่ให้เจ็บป่วยได้
เริ่มจากที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยแห่งสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้รับรู้ แล้วขยายผลต่อไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ และยังมีบทบาทในระดับอาเซียนจัดทำระบบชี้วัดเพื่อที่จะให้ประกาศนียบัตรรับรองแก่ มหาวิทยาลัยที่มีระบบการจัดการที่ดีในเรื่องเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัย โดยเริ่มแรกจากที่เป็นสมาชิกในกลุ่มมหาวิทยาลัยสุขภาพระดับอาเซียน และจะขยายผลสู่ระดับโลกต่อไปในอนาคต
ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบติดตามและประเมินผล ASEAN Rating on Healthy University (ARHU) กล่าวเสริมว่า ตัวชี้วัดมหาวิทยาลัยแห่งสุขภาพมีทั้งหมด 22 เรื่อง ซึ่งครอบคลุมระบบการพัฒนาและโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ 9 เรื่อง รวมถึงกิจกรรมการลดละเลิกปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ 6 เรื่อง ได้แก่ บุหรี่ แอลกอฮอล์ สารเสพติด การพนัน ความรุนแรง ตลอดจนเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนในสถานศึกษา ควบคู่กับกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก 7 เรื่อง อาทิ ให้ความรู้ด้านสุขภาพกายและสุขภาวะทางใจ การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ด้านโภชนาการ พฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย และความสมดุลของชีวิต
กระบวนการประเมินผลอยู่ในกรอบของ 5-stars rating system เริ่มจากการให้มหาวิทยาลัยประเมินตนเองสำหรับตัวชี้วัดในแต่ละเรื่องผ่านระบบคอมพิวเตอร์ พร้อมประมวลผลและสะท้อนออกมาเป็นภาพรวม วิเคราะห์ศักยภาพในแต่ละด้าน และเทียบกับค่าคะแนนมาตรฐานเพื่อคำนวณออกมาในระดับ 1-5 stars จากทั้งหมด 1,000 คะแนน ระดับ 1 star อยู่ระหว่าง 1 - 199 คะแนน ระดับ 2 stars อยู่ระหว่าง 200 - 399 คะแนน ระดับ 3 stars อยู่ระหว่าง 400 - 599 คะแนน ระดับ 4 stars อยู่ระหว่าง 600 - 799 คะแนน ระดับ 5 stars อยู่ระหว่าง 800 - 900 คะแนน และอีก 100 คะแนนสำหรับระดับยอดเยี่ยม (Best Practice) ซึ่งกำหนดในลักษณะ 5 stars plus ทั้งนี้คะแนนในระดับ 5 stars หรือสูงกว่า จะมีการตรวจประเมินและยืนยันจากคณะกรรมการในระดับนานาชาติด้วย
จุดมุ่งหมายสำคัญ คือต้องการให้มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาวะที่ดี ได้เห็นถึงพัฒนาการและแข่งขันกับตัวเองเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ ไปกับสร้างการรับรู้แก่ประชาชน จากนั้นจะได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพื่อพัฒนาเป็นงานวิจัยและงานวิชาการเชิงนโยบายเพื่อเผยแพร่สู่สังคมวงกว้างต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา กล่าวต่อไปว่า เมื่อเร็วๆ นี้ทางคณะกรรมการฯ ได้มีการหารือปรับเปลี่ยนชื่อจาก ASEAN Rating on Healthy University (ARHU) เป็น Healthy University Rating System (HURS) เพื่อให้สอดรับกับทิศทางความสนใจในระดับนานาชาติให้มากขึ้น โดยจะมีการขยายผลการใช้เกณฑ์การชี้วัดสู่ระดับโลกเช่นเดียวกับ UI Green Metric ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย ในการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมและระบบเชิงนิเวศน์ โดยคาดว่าจะแพร่หลายภายใน 2 -3 ปีหลังจากเป็นที่รู้จักในระดับอาเซียน ซึ่งถึงตอนนั้นประโยชน์จะเกิดกับทุกคน รวมไปถึงประชาคมโลก
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม
นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โทร. 0-2849-6210