สำหรับการตรวจเยี่ยมฯ ในครั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายในการดำเนินงาน และแนวทางขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติเพื่อการพัฒนา สบพ. ไปสู่ความยั่งยืน แก่สถาบันการบินพลเรือน ภายใต้แนวคิด "เชื่อมไทย เชื่อมโลก" โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
1.การศึกษาเฉพาะทางด้านการบินบนพื้นฐานของผลลัพธ์ เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรที่มีความพร้อมในการแข่งขันระดับสากล เพื่อสร้างให้ สบพ. เป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศในวิชาชีพด้านการบินที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น การยกระดับมาตรฐานการฝึกอบรมไปสู่ Regional Training Centre of Excellence (RTCEs) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ พร้อมพัฒนาและฝึกอบรมบุคลากรในอุตสาหกรรมการบินที่มีคุณภาพเป็นมาตรฐานเพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางอากาศ ผลิตช่างอากาศยานมาตรฐาน European Aviation Safety Agency (EASA) B1/B2 รวมทั้งสร้างระบบกลไกที่เป็นรูปธรรมในการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานของประเทศและภูมิภาค
2. วิจัยและสร้างนวัตกรรมด้านการบินเชิงบูรณาการเพื่อสนองตอบสังคมและประชาคมโลก โดยริเริ่ม พัฒนา ขับเคลื่อน และประสานการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับกิจการการบินพลเรือนของประเทศและภูมิภาค รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานในการเพิ่มศักยภาพด้านการวิจัย และพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรม กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนพัฒนารูปแบบและกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางข้อมูลของประเทศที่มีการให้บริการข้อมูลความรู้ด้านการบินในทุกมิติ พร้อมเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศอย่างเป็นระบบ
3. ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและบริการวิชาการทางด้านการบินด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ส่งเสริมความร่วมมือและการบริการวิชาการที่สนองตอบต่อความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ สบพ. ได้อย่างเป็นรูปธรรม และส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของ สบพ. มีศักยภาพในการบริการวิชาการและวิชาชีพ ยกระดับให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อสร้างโอกาสทางการแข่งขัน เช่น ส่งเสริมการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ให้เหมาะสมกับภาคอุตสาหกรรมด้านการบินที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา มีการวางแผนการผลิตบุคลากรตามความต้องการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการบินและพันธมิตร ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งพัฒนาและขยายหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดอย่างครบวงจร พร้อมดำเนินการโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
4. การบริหารจัดการองค์กรเพื่อความยั่งยืน ประกอบด้วย
4.1 สร้างระบบบริหารจัดการที่มีคุณภาพ โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาล
- ให้สามารถวิเคราะห์ต้นทุนของการดำเนินการและการวางแผนทางการเงินที่ดีโปร่งใสตรวจสอบได้
- บริหารจัดการกลยุทธ์และการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนขององค์กรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก
- ส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามระบบเพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดความเป็นหนึ่งเดียว สร้างความสามัคคีในองค์กร
4.2 สร้างแรงจูงใจแก่บุคลากรทุกระดับโดยปรับระบบค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้เหมาะสมและความก้าวหน้าในวิชาชีพที่เป็นธรรม
4.3 ปรับปรุงกฎระเบียบและวิธีการปฏิบัติงานให้มีความคล่องตัวและทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
4.4 ใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเพิ่มพูนรายได้ และควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต
5. การสร้างภาพลักษณ์และการส่งเสริมพัฒนาทรัพยากรบุคคลและกายภาพ เพื่อการแข่งขันระดับโลก โดยสร้างให้ สบพ. มีภาพลักษณ์ที่โดดเด่น ในการสร้างและผลิตบุคลากรด้านการบิน ผลงานวิจัยและวิชาการด้านการบิน ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล วางแผนและพัฒนาบุคลากร สร้างความเป็นมืออาชีพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ส่งเสริมพัฒนาสภาพแวดล้อม กระบวนการทำงาน การบริหารให้ทันสมัย ทบทวนแผนบริหารการจัดการของศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภาให้คุ้มค่ากับเงินลงทุน เหมาะสมกับเวลา โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และองค์กรได้รับประโยชน์สูงสุด และให้ สบพ. เป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาลในการกำหนดมาตรฐานการผลิตบุคลากรต้นแบบด้านการบินให้กับประเทศไทยและต่างประเทศ
ในโอกาสนี้ สถาบันการบินพลเรือน ได้นำเรียนปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการองค์กร โดย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะที่ปรึกษา ได้ให้คำแนะนำแนวทางการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ สบพ. เป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง และยังคงเป็นสถาบันแห่งความเป็นเลิศด้านวิชาชีพในอุตสาหกรรมการบินแบบครบวงจรที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล