นอกจากนี้ ในหน่วยงานสังกัด กทม. ยังมีมาตรการส่งเสริมการใช้รถส่งเอกสารร่วมกัน (Car Pool) ระหว่างศาลาว่าการ กทม. 1 เสาชิงช้า และศาลาว่าการ กทม. 2 ดินแดง รวมถึงการรณรงค์ไม่ขับ...ช่วยดับเครื่อง ตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้เกิดมลพิษ กำชับให้ดำเนินการจัดเก็บมูลฝอยในถนนสายหลักและถนนสายรองให้แล้วเสร็จก่อนเวลา 04.00 น. ของทุกวัน เพิ่มความถี่การล้างถนนและฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศเพื่อดักจับฝุ่นในช่วงภาวะวิกฤติ ตลอดจนเพิ่มความเข้มงวดการกำกับดูแลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า อาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่ที่ได้รับเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด และโครงการก่อสร้างที่ไม่ได้จัดทำรายงาน EIA ให้ปฏิบัติตามมาตรการลดฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง เช่น กวดขันผู้รับเหมาฉีดน้ำทำความสะอาดล้อรถบรรทุก หรือรถอื่น ๆ ก่อนออกจากสถานที่ก่อสร้าง ล้างทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้างทุกวัน เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง ควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ
และได้กำชับผู้ประกอบการให้ควบคุมฝุ่นจากการถมดิน รวมถึงมีแผนล้างทำความสะอาดถนนและฉีดล้างใบไม้ เพื่อดักจับฝุ่นทุกวันในพื้นที่มีปริมาณฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐานอีกด้วย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศแบบ Real Time ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ www.bangkokairquality.com www.air4bangkok.com www.prbangkok.com Facebook : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม. โดยเพิ่มความถี่การแจ้งเตือนเป็นวันละ 3 รอบ เวลา 07.00 12.00 และ 15.00 น. และแอปพลิเคชัน AirBKK ซึ่งแสดงผล AQI แบบ Real Time ตามตำแหน่งที่ผู้ใช้งานอยู่ ณ ปัจจุบัน
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. เปิดเผยว่าในส่วนของสำนักการโยธาได้ประสานแจ้งเจ้าของอาคาร อาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่อยู่ระหว่างก่อสร้างให้ปฎิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขในการก่อสร้างตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และจะต้องไม่กระทำการใด ๆ อันอาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน โดยจะต้องดำเนินการฉีดพ่นละอองน้ำบนอาคารและบริเวณรอบสถานที่ก่อสร้างอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ พร้อมทั้งขอความร่วมมือเจ้าของอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่ก่อสร้างแล้วเสร็จติดตั้งสปริงเกอร์บนอาคารช่วยฉีดพ่นละอองน้ำ ขณะนี้ได้รับความร่วมมือติดตั้งสปริงเกอร์บนอาคารแล้วจำนวน 147 อาคาร
นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวว่า สำนักการศึกษาร่วมสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสำนักงานเขต และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เพิ่มความปลอดภัยให้เด็กนักเรียนจากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์แสดงค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 หรือสัญญาณไฟแสดงระดับคุณภาพของอากาศภายในโรงเรียนเป็นระยะ กำหนดจุดรับ-ส่งนักเรียน โดยจำกัดอาณาเขตยานพาหนะ จัดสถานที่ที่ปราศจากฝุ่นละอองรองรับนักเรียนที่อาจได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ห้องสมุด ห้องประชุม ฯลฯ เพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในโรงเรียนให้มากขึ้น รวมทั้งทำความสะอาดภายในโรงเรียนและโดยรอบให้สะอาด ขอความร่วมมืองดการจำหน่ายอาหารประเภทปิ้งย่างรอบโรงเรียน และหากปริมาณฝุ่นอยู่ในเกณฑ์สูงจะจัดเครื่องฟอกอากาศติดตั้งในโรงเรียน จัดทำม่านละอองน้ำบริเวณอาคารเรียนตามความเหมาะสม ทั้งนี้ หากปริมาณฝุ่นอยู่ในเกณฑ์อันตรายสถานศึกษาสามารถประกาศหยุดการเรียนการสอนโดยอยู่ในดุลพินิจของผู้บริหารสถานศึกษา และรายงานให้สำนักงานเขต และสำนักการศึกษาทราบต่อไป