จิตเวชโคราช ไอเดียเริ่ด!! จัดโครงการ “ต่อฝัน ปันสุข” ฟื้นฟูศักยภาพผู้ป่วยจิตเวช แก้ปัญหาว่างงาน สร้างรายได้

จันทร์ ๒๗ มกราคม ๒๐๒๐ ๐๘:๕๕
รพ.จิตเวชนครราชสีมา เผยผลสำรวจพบผู้ป่วยจิตเวชร้อยละ 90-95 ว่างงาน อยากมีอาชีพและรายได้ จัดโครงการต่อฝันปันสุข ฟื้นฟูศักยภาพผู้ป่วยจิตเวชแนวใหม่ ให้ผลดีคูณ 4 คือมีทั้งทักษะความสามารถ ผ่อนคลายใจ มีรายได้สู่การพึ่งพาตนเอง และสังคมยอมรับและเข้าใจ โดยใช้ 4 กิจกรรมหลัก อาทิ งานประดิษฐ์เช่นทำเหรียญโปรยทาน น้ำดื่มสมุนไพร พบฝีมือไม่แพ้ใคร ประชาชนสามารถอุดหนุนผลิตภัณฑ์เติมพลังใจให้คุณค่าผู้ป่วยจิตเวช สั่งซื้อหรือสอบถามที่หมายเลข 06 2201 0583

นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า โรคทางจิตเวช นอกจากจะมีอาการเรื้อรังที่ต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่องแล้ว การเจ็บป่วยมีผลต่อกระบวนการคิด การรับรู้ อารมณ์และพฤติกรรม ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานของสมองผิดปกติ ทำให้เกิดความบกพร่องทางทักษะต่างๆในการดำเนินชีวิตประจำวันทั้งการดูแลตนเอง ทักษะทางสังคม และอาชีพการงาน ยิ่งอาการกำเริบซ้ำบ่อย ยิ่งทำให้ความสามารถผู้ป่วยลดลง บางครั้งอาจถูกปฏิเสธไม่ให้ทำงาน ผู้ป่วยบางคนเล่าให้ฟังว่าถูกคนในหมู่บ้านมองว่าเป็นคนโง่ สภาพการณ์เช่นนี้ สร้างความรู้สึกด้อยคุณค่าและศักดิ์ศรี ทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจในการประกอบอาชีพ คุณภาพชีวิตแย่ลง ผลสำรวจในปี 2562 พบว่าผู้ป่วยจิตเวชร้อยละ 84 ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 95 ว่างงานได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยร้อยละ 90 มีความตั้งใจที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตนเอง อยากมีอาชีพและมีรายได้ ไม่อยากเป็นภาระครอบครัว

นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหา รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯได้จัดโครงการต่อฝัน ปันสุข เพื่อฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชที่อาการทางจิตสงบแล้ว ด้วยรูปแบบใหม่คือการคืนสู่สุขภาวะเช่นเดียวกับต่างประเทศใช้ เน้นใช้กิจกรรมกลุ่มกระตุ้นความสามารถผู้ป่วยเช่นเดียวกับการฟื้นฟูผู้พิการอื่นๆ สร้างการเรียนรู้สมองพร้อมลงมือทำ เกิดเป็นทักษะสามารถปฏิบัติได้ ใช้เป็นโครงการต้นแบบ นำร่องในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชหญิงที่หอผู้ป่วยทองอุไร ดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นมา โครงการนี้จะให้ผลดีกับผู้ป่วยอย่างน้อย 4 ด้าน คือ1.มีทักษะทางสังคมเช่นการอยู่ร่วมกัน 2.กระตุ้นให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด สร้างความผ่อนคลาย ทั้งจากความเครียด เศร้า หรือเหงา 3.สามารถสร้างเป็นรายได้ สู่การพึ่งพาตนเอง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีความหวัง รู้สึกชีวิตมีคุณค่า มีความมั่นใจ และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และ4. สร้างความเข้าใจสังคมที่ถูกต้องว่าผู้ป่วยจิตเวชไม่ใช่บุคคลไร้ค่า ไร้ความสามารถ โดยจะประเมินผลในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อขยายผลใช้กับผู้ป่วยชายในระยะต่อไป

ทางด้านนางสาวนิศากร แก้วพิลา พยาบาลจิตเวช หัวหน้าหอผู้ป่วยทองอุไร รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯกล่าวว่า ผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ ให้การยอมรับว่าความสามารถด้านการทำงานของผู้ป่วยจิตเวชนั้น ฝึกฝนและพัฒนาจนเกิดทักษะและทำงานได้ โดยกิจกรรมกลุ่มที่ใช้ดำเนินการในโครงการนี้มี 4 กิจกรรม ประกอบด้วย 1.กิจกรรมเกษตรบำบัด เช่น การเพาะถั่วงอก เพาะต้นอ่อนทานตะวัน 2. กิจกรรมรักษ์สุขภาพเช่นทำน้ำสมุนไพร อาทิน้ำอัญชันใบเตยหอม น้ำกระเจี๊ยบ น้ำเก๊กฮวย น้ำลำไย 3.การทำอาหารหวานและคาว และ4.งานประดิษฐ์ เช่น ทำเหรียญโปรยทาน พวงกุญแจถักโครเชต์ มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ฝึกสอนดูแลจนผู้ป่วยทำได้ถูกต้องตามขั้นตอน และจัดหาช่องทางจำหน่ายด้วยเช่นที่ตลาดนัดสีเขียวของรพ. เพื่อให้ผู้ป่วยได้ฝึกทักษะการสื่อสาร กล้าพูดคุยกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่บุคลากรที่ดูแลรักษา เพื่อให้สัมผัสกับการใช้ชีวิตจริง เตรียมพร้อมกลับไปใช้ชีวิตจริงที่บ้านและชุมชน และวางขายที่หอผู้ป่วยทองอุไร โดยน้ำสมุนไพรแช่เย็นราคาขวดละ 10 บาท อยู่ระหว่างเพิ่มพื้นที่วางจำหน่ายเช่นที่แผนกผู้ป่วยนอก และหอผู้ป่วยอื่นๆอีก 7 หอ

"กิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากผู้ป่วยจิตเวชอย่างมากขณะนี้คือ การทำเหรียญโปรยทานที่ใช้ในงานบุญ รูปทรงต่างๆ ด้วยริบบิ้น เช่นดอกไม้ รูปดาว ผู้ป่วยมองว่าทำแล้วตนเองได้บุญ ได้ทำความดีด้วย และทำพวงกุญแจถักโครเชต์ สามารถนำกลับไปทำที่บ้านได้ พบว่าฝีมือผู้ป่วยละเอียด และรังสรรค์รูปแบบได้สวยงามไม่แพ้คนทั่วไป แสดงว่ากิจกรรมนี้ช่วยให้ผู้ป่วยเกิดสมาธิได้อย่างดี เอื้อให้การรักษาได้ผลดี ขณะนี้มีผู้สั่งจองให้ทำอย่างต่อเนื่องเพราะราคาไม่สูง " นางสาวนิศากรกล่าว

นางสาวนิศากรกล่าวต่ออีกว่า มีแนวคิดจะส่งจำหน่ายที่ร้านค้าภายนอกเช่นร้านสังฆภัณฑ์ ที่อยู่ในเขตนครชัยบุรินทร์คือจ.นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์และบุรีรัมย์ เพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่องให้ผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่ยากจน โดยรายได้ทั้งหมดหลังหักต้นทุนจะแบ่งให้ผู้ป่วยเป็นเงินขวัญถุงกลับบ้านทุกคน ประชาชนที่สนใจจะร่วมอุดหนุนส่งเสริมศักยภาพเป็นพลังใจให้ผู้ป่วยจิตเวช สามารถติดต่อสอบถามที่หมายเลข 06 2201 0583 ทั้งนี้หอผู้ป่วยทองอุไร มีผู้ป่วยหญิงพักฟื้นเฉลี่ยวันละ 45 คน ส่วนใหญ่ป่วยซึมเศร้า จิตเภท ใช้เวลาฟื้นฟูทักษะต่างๆจนกลับมาเกือบเท่าปกติโดยเฉลี่ย 30 วัน ******* 26 ม.ค. 2563

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม