พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ประธานการประชุมฯ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้บูรณาการทุกหน่วยงานดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเต็มกำลัง ภายใต้กฎหมายและแผนว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยผ่านกลไกการปฏิบัติของหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยเน้นการทำงานในมิติเชิงพื้นที่ แบ่งพื้นที่รับผิดชอบและมอบหมายภารกิจอย่างชัดเจน รวมถึงจัดหน่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง โดยมีกลุ่มการทำงานแยกเป็น 3 ด้าน ครอบคลุมทั้งกลุ่มพยากรณ์ คาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณฝน และสถานการณ์น้ำ กลุ่มบริหารจัดการน้ำ ดูแลภาพรวมการบริหารจัดการน้ำของประเทศ เพื่อวางแผนการใช้น้ำทุกประเภท และกลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งบูรณาการฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร และภาคเอกชนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งเชิงพื้นที่ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ 1) พื้นที่ที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 2) พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำตามข้อมูลของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ โดยให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนรองรับ ทั้งการเติมน้ำดิบเข้าสู่ระบบผลิตน้ำประปา การเจาะบ่อบาดาล การเติมน้ำใส่ภาชนะรองรับน้ำกลางของหมู่บ้าน ในส่วนของน้ำเพื่อการเกษตร ได้มีการบริหารจัดการตามแผนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้มีการเน้นย้ำไม่ให้เกิดกรณีพื้นที่ขาดแคลนน้ำและพืชยืนต้นตายอย่างเด็ดขาด
"การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและช่วยเหลือผู้ประสบภัยระยะเร่งด่วน ได้เน้นย้ำให้จัดหาน้ำจากทุกแหล่งรองรับการใช้น้ำ ระดมเครื่องจักรกลสาธารณภัยจากทุกหน่วยงานผันน้ำดิบเข้าสู่ระบบการผลิตน้ำประปา ขุดลอกแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ขุดเจาะและเป่าล้างบ่อบาดาล ควบคู่กับการจัดสรรน้ำสนับสนุนทุกพื้นที่เสี่ยงภัย มุ่งดูแลด้านน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก โดยจัดรถบรรทุกน้ำนำน้ำไปเติมยังถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านและจุดแจกจ่ายน้ำตามวงรอบอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงฤดูแล้ง เพื่อลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำที่มีปริมาณจำกัดอย่างประหยัด คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพมากที่สุด เชื่อมั่นว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะทำให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในทุกพื้นที่" มท.1 กล่าว
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีข้อสั่งการตามแนวทางของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งระยะเร่งด่วน โดยให้ทุกจังหวัดดำเนินการ "ขุดดินแลกน้ำ" ใช้วัสดุมูลดินที่ได้จากการขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อเป็นการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ และเป็นการขุดบ่อเพื่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ ซึ่งได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ศึกษาแนวทางการดำเนินการตามนโยบายการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ สำหรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะเร่งด่วน คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการบริหารจัดการเครื่องจักรกลสาธารณภัยเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยขณะนี้ได้ระดมสรรพกำลังเครื่องมือและอุปกรณ์จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยทหารและฝ่ายพลเรือน อาทิ รถบรรทุกน้ำ รถผลิตน้ำ เครื่องจักรและเครื่องขุด เครื่องเจาะบ่อและสูบน้ำ รวมกว่า 4,200 รายการ โดยกำหนดให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 แห่งทั่วประเทศ เป็นจุดระดมทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระดับภาคและเขตจังหวัด ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเตรียมเครื่องจักรกลให้พร้อมออกปฏิบัติงานทันทีที่ได้รับการร้องขอจากจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ หากมีพื้นที่เสี่ยงเกิดสาธารณภัยให้ปฏิบัติการเชิงรุก นำเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาทันที นอกจากนี้ ได้กำชับให้จังหวัดสร้างการรับรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะข้อมูลสถานการณ์น้ำ แผนการจัดสรรน้ำ มาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ รวมถึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้น้ำ เพื่อมิให้เกิดปัญหาการแย่งน้ำ ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง พร้อมดูแลทุกครัวเรือนให้มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ