สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร IFEC กับพวก รวม 4 ราย ได้แก่ (1) นายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ ขณะเกิดเหตุ เป็นรองประธานกรรมการ รองประธานกรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการของIFEC (2) นายฐนวัฒน์ จันทร์สุวรรณ ขณะเกิดเหตุ เป็นกรรมการบริหาร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป และเลขานุการของ IFEC (3) นางสมศรี ชูกิจสมบูรณ์ และ (4) นายอภิชาติ วัฒนภูษิตสกุณ กรณีร่วมกันกระทำทุจริตต่อหน้าที่เป็นเหตุให้ IFEC ได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ บุคคลทั้ง 4 รายได้ร่วมกันทำให้ IFEC เข้าซื้อที่ดินและอาคารสำนักงาน 7 ชั้น เพื่อใช้เป็นสำนักงานแห่งใหม่ในราคา 60 ล้านบาท จากนางสมศรี อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบพบข้อเท็จจริงทำให้เชื่อได้ว่า มีการจ่ายค่าซื้อที่ดินและอาคารสำนักงานที่แท้จริงเพียง 40 ล้านบาท โดยเงินจำนวน 20 ล้านบาท ได้ถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของนายสิทธิชัยและนายอภิชาติ พฤติกรรมดังกล่าวจึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น
การกระทำของอดีตกรรมการและผู้บริหาร IFEC และพวกรวม 4 รายข้างต้น เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 307 มาตรา 311 มาตรา 313 และมาตรา 315 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86
แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 4 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้น ต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน และการสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ