นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรับยาจิตเวชที่ร้านขายยาใกล้บ้านตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อลดความแออัดที่โรงพยาบาล ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1ต.ค.2562 เป็นต้นมาว่า หลังจากดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 3 เดือน ซึ่งมีร้านยาเข้าร่วมโครงการกับรพ.จิตเวชฯจำนวน 5 แห่ง พบว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ไม่พบอุปสรรคในแง่ของการบริหารจัดการ ขณะนี้มีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองรายเก่า 5 โรคที่อาการคงที่ ได้แก่ โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคอารมณ์ 2 ขั้วหรือโรคไบโพลาร์ และโรคนอนไม่หลับ สมัครใจไปรับยาที่ร้านยากว่า 100 คน ทุกคนไปรับยาที่ร้านยาตามนัด บางคนไปรับยาแล้ว 6 ครั้ง ยังไม่พบปัญหาขาดยา โดยเฉลี่ยต่อคนใช้เวลารับบริการไม่ถึงครึ่งชั่วโมง
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวว่า ล่าสุดนี้มีร้านขายยามาตรฐานที่อยู่ในพื้นที่อ.เมืองนครราชสีมา สมัครเข้าร่วมโครงการฯอีก 5 แห่ง รวมเป็น 10 แห่ง โดยอยู่ในต.ในเมือง 7 แห่ง ,ต.โพธิ์กลาง 2 แห่ง และต.จอหอ 1 แห่ง เภสัชกรประจำร้านทุกแห่งผ่านการอบรมหลักสูตรด้านการบริบาลเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยจิตเวชยาเดิมมาตรฐานเดียวกับกลุ่มงานเภสัชกรรมของรพ.จิตเวชฯ ซึ่งขณะนี้ใช้ระบบการประเมินอาการผู้ป่วยก่อนจ่ายยาด้วยโปรแกรมออนไลน์เหมือน กันทุกแห่ง รวมทั้งการตรวจวัดสัญญาณชีพและชั่งน้ำหนักผู้ป่วยทุกครั้ง โดยรพ.จิตเวชฯวางแผนขยายโครงการนี้ให้ครอบคลุมพื้นที่ในเขตอ.เมืองนครราชสีมาซึ่งมีจำนวน 25 ตำบลโดยเร็ว รวมทั้งจะขยายไปยังอำเภออื่นๆในจ.นครราชสีมาและอีก 3 จังหวัดในเขตสุขภาพที่9 ที่รับผิดชอบคือ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ โดยจะประชุมชี้แจงเตรียมความพร้อมเครือข่ายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวก มีความปลอดภัยและไม่มีปัญหาขาดยา
ทางด้านเภสัชกรหญิงจุฑามณี ดุษฎีประเสริฐ รองผู้อำนวยการด้านสารสนเทศและการพัฒนาคุณภาพสู่ความเป็นเลิศ และหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า ระบบการจัดบริการจ่ายยาเดิมให้ผู้ป่วยจิตเวชของร้านขายยาที่ร่วมโครงการฯจะใช้ 3 มาตรการหลักเช่นเดียวกับรพ.จิตเวชฯ ประกอบด้วย
1.จ่ายยาถูกต้องตามมาตรฐานสากล ประกอบด้วย จ่ายถูกคน ถูกชนิด ถูกขนาด ถูกวิธี ถูกเวลา ถูกตามข้อบ่งใช้สมเหตุสมผล และมีเอกสารการใช้ยาถูกต้อง
2.เภสัชกรที่ร้านขายยา สามารถให้คำแนะนำญาติในการสังเกตอาการและพฤติกรรมเตือนของผู้ป่วย 5 ประการก่อนอาการทางจิตกำเริบได้แก่ ไม่หลับไม่นอน เดินไปเดินมา พูดจาคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว เที่ยวหวาดระแวง ซึ่งต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที ไม่ต้องรอให้เกิดอาการรุนแรง
มาตรการที่3 คือการแก้ไขปัญหาในระหว่างการรักษา โดยหากเภสัชกรพบว่าผู้ป่วยจิตเวชมีปัญหาดังต่อไปนี้ 8 ประการ จะต้องส่งผู้ป่วยกลับไปพบแพทย์ที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯทันที ได้แก่
1.มีอาการทางจิตกำเริบหรือมีอาการกังวล ซึมเศร้า
2. มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นมีน้ำลายไหลตลอดเวลา
3. ผู้ป่วยมีแนวโน้มว่าจะขาดยา เช่นไม่ไปรับยาที่ร้านยาตามนัดเกินกว่า 3 วัน และไม่สามารถติดต่อได้ หรือมียาเก่าเหลือมากกว่าร้อยละ20ของจำนวนยาที่จ่ายไปครั้งก่อน
4.ผู้ป่วยมีปัญหาใช้ยาในทางที่ผิดเช่นเพิ่มยาเอง
5. ผู้ป่วยวางแผนตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์ระหว่างการรักษา
6. ผู้ป่วยใช้สารเสพติดให้โทษชนิดรุนแรงระหว่างการรักษา
7. มีอาการนอนไม่หลับอย่างรุนแรง หรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย
และ8. สิทธิการรักษาเปลี่ยนระหว่างเข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ รพ.จิตเวชฯได้เตรียมประเมินผลโครงการนี้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยจะประเมินประสิทธิภาพทั้งด้านการลดระยะเวลาบริการ การลดความอัดที่รพ. การลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยทั้งทางตรงและทางอ้อม อัตราการรับยาต่อเนื่อง ความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ในรพ.และร้านขายยาด้วย เพื่อปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดต่อไป