นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกพร. เปิดเผยว่าการฝึกอบรมดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามนโยบายของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการให้หน่วยงานในกระทรวงแรงงานสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ในการปฏิรูปกำลังแรงงาน ให้มีศักยภาพรองรับนวัตกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังคนทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมจัดฝึกอบรมให้แก่นักศึกษาของทั้งสองมหาวิทยาลัย ที่กำลังศึกษาสาขาวิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ชั้นปีที่ 4
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า นักศึกษาได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติใน 5 โมดุล ได้แก่ (1) พื้นฐานอุตสาหกรรม (2) เทคโนโลยีการผลิตระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรม (3) การควบคุมลำดับขั้น (4) การใช้เครื่อง CMM เพื่อการตรวจสอบชิ้นส่วนยานยนต์ และ (5) การปรับแต่งไฮดรอลิกและการบำรุงรักษาเครื่องจักรเบื้องต้น ใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรม 168 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2562-29 มกราคม 2563 โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษามีทักษะความรู้ในการปฏิบัติงานได้จริงในสถานประกอบกิจการ มีนักศึกษาจำนวน 22 คนที่ผ่านการฝึกอบรมได้เข้าทำงานในสถานประกอบกิจการในเครือข่ายของสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย จำนวน 12 แห่ง เช่น บริษัท ซีเอสพี แคสติ้งค์ จำกัด จำกัด บริษัท ซี เอ็นไอ เอ็นจิเนียริ่ง ซัพพลาย จำกัด บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด บริษัท วาย เอส ภัณฑ์ จำกัด เป็นต้น ในตำแหน่งผู้ช่วยวิศวกร ซึ่งสามารถต่อยอดเป็นวิศวกรควบคุมงานได้ในอนาคตมีส่วนสำคัญในการป้อนกำลังแรงงานสู่จังหวัดสมุทรปราการ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ด้านนายสง่า วงศ์ษาพาน ผู้ตรวจราชการกพร. กล่าวว่าสำหรับสถาบัน AHRDA เป็นศูนย์ Training Excellent Center ของ กพร. กระทรวงแรงงาน มุ่งเน้นพัฒนากำลังแรงงานในสายการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ด้วยการสร้างช่างเทคนิคและวิศวกรป้อนสู่สถานประกอบกิจการ จึงจัดฝึกอบรมหลักสูตรด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.dsd.go.th/ahrda หรือโทรสอบถามได้ที่ 0 2315 3789
นางสาวนิศากร ถาอุปชิต (22 ปี) สาขาวิศวกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ มีโอกาสได้ใช้เทคโนโลยีระบบการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ทำให้เข้าใจกลไกการผลิตในสถานประกอบกิจการมากยิ่งขึ้น โดยทุกหัวข้อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน และขอขอบคุณภาครัฐที่ช่วยให้ตนเองมีงานทำทันทีหลังจบฝึก ซึ่งได้เข้าทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยวิศวกรที่บริษัท ซีเอสพี แคสติ้งค์ จำกัด