นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา รองผู้อำนวยการ สคร. รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ เปิดเผยว่า การจัดสัมมนา "การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. ๒๕๖๒ และกฎหมายลำดับรอง" ที่จังหวัดขอนแก่น นับเป็นการจัดสัมมนาครั้งที่ ๓ ต่อเนื่องจากที่เปิดเวทีสัมมนาที่กรุงเทพฯ และจังหวัดเชียงใหม่ ให้กับบุคลากรหน่วยงานของรัฐในเขตจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน ๒๐ จังหวัด โดยพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงหลายประการเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
สำหรับสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. ๒๕๖๒ (พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี ๒๕๖๒) ได้กำหนดให้โครงการที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ จะต้องเป็นโครงการร่วมลงทุนในกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ส่งผลให้โครงการร่วมลงทุน ที่ไม่ได้อยู่ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ เช่น โครงการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายดังกล่าว และได้กำหนดให้มีแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่สอดคล้องกับแผนแม่บทด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และด้านสังคมของประเทศที่สำนักงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดทำขึ้นเพื่อกำหนดนโยบายของรัฐที่ชัดเจนและแน่นอน ในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะซึ่งเป็นภารกิจหลักของรัฐ โดยกำหนดเป้าประสงค์ ของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP) มุ่งเน้นการใช้ความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมของเอกชนในโครงการร่วมลงทุน การถ่ายทอดความรู้และความเชี่ยวชาญไปยังหน่วยงานภาครัฐ การรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ และการเสริมสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้ นอกจากนี้ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี ๒๕๖๒ ยังมุ่งเน้น ถึงความสำเร็จอย่างยั่งยืนของโครงการ PPP โดยกำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนให้แก่โครงการร่วมลงทุนอย่างเหมาะสมภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง และมีกลไกช่วยแก้ไขปัญหาหรือความล่าช้า ในการจัดทำหรือดำเนินโครงการร่วมลงทุน รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนให้กระชับมากยิ่งขึ้น
การจัดสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการดำเนินการ และการปฏิบัติงานตามกฎหมายที่มีขั้นตอนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตลอดจนสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ PPP ให้กับบุคลากรหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอิสระ เพื่อเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการดำเนินการ และการปฏิบัติงานตามกฎหมายที่มีขั้นตอนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตลอดจนสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ PPP ให้กับบุคลากรหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอิสระ ในเขตจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะทำให้เกิดโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชนได้เพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว