จังหวัดพะเยานั้น มีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอยู่ 57 แห่งมีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 51.105 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 24.282 ล้านลูกบาศก์เมตร สืบเนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ปริมาณน้ำฝนสะสมมีปริมาณที่น้อย จึงส่งผลให้น้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กมีปริมาณที่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในอนาคต ทางโคงการชลประทานจังหวัดพะเยาจึงวางแผนใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคเท่านั้นและมีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรงดทำนาปรังและส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย
ในส่วนของพะเยาโมเดล ทางกระทรวงเกษตรฯได้มีเจตนารมณ์ที่ต้องการสานต่อ และต่อยอด นโยบายของรัฐบาลโดยเลือกจังหวัดพะเยาขึ้นมาเป็นต้นแบบ โดยใช้ข้าวหอมมะลิ ภายใต้แบรนด์ข้าว "ฮักพะเยา" พร้อมเพิ่มบริการรถเกี่ยวข้าว โรงสีข้าว ปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร สนับสนุนการไถกลบตอซังข้าวเพื่องดการเผาที่เป็นสาเหตุของ PM 2.5 และการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าว วางแผนการจัดระเบียบการเพาะปลูก เพื่อการจัดการน้ำ ดิน การปลูก การเก็บเกี่ยวจำหน่ายในช่วงเวลาที่เหมาะสม และเดินหน้าโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงงาน เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้กระจายสู่ทุกชุมชน โดยผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรที่ได้มาตรฐานสากล และจัดจำหน่ายผ่านช่องทาง Modern Trade, E Commerce ให้แก่ผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ