นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 3 -7 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ ได้นำคณะเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เดินทางไปสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยได้เข้าพบนายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย เพื่อหารือและเตรียมการสำหรับการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนในฤดูกาลผลิตและส่งออกผลไม้ในปี 2563 ผ่านประเทศเวียดนาม ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของจีน และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การส่งออกและนำเข้าสินค้าพืชระหว่างไทยกับเวียดนาม ซึ่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ได้แจ้งว่าเวียดนามมีความต้องการนำเข้ามะพร้าวอ่อนจากไทย ซึ่งนับเป็นสินค้าที่มีศักยภาพและสามารถส่งเสริมการส่งออกมายังเวียดนามได้ ทั้งนี้ข้อมูลการส่งออกผลไม้ไทยทั้งสดและอบแห้งไปยังเวียดนามในปี 2562 มีมูลค่ากว่า 26,000 ล้านบาท
การหารือร่วมกับเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาที่พบระหว่างการขนส่งสินค้าผลไม้สดไปจีนโดยผ่านประเทศที่สาม และเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการที่ส่งออกผลไม้สดไปจีน เนื่องจากในการส่งออกผลไม้สดจากไทยไปจีนนิยมขนส่งไปทางบก ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขภายใต้พิธีสารของไทยและจีนด้านข้อกำหนดในการกักกันโรคและการตรวจสอบสำหรับการขนส่งผลไม้ไทยที่ส่งออกผ่านประเทศที่สามไปยังจีน โดยพิธีสารระบุให้ผู้ประกอบการต้องขนส่งผลไม้สดโดยผ่านเส้นทางที่กำหนด และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขด้านสุขอนามัยพืชในพิธีสารดังกล่าว รวมทั้งตู้สินค้าที่ขนส่งถึงประเทศจีนต้องปิดผนึกและอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศรับทราบข้อมูลประเด็นดังกล่าว โดยจะดำเนินการประสานและหารือเพื่อติดตามความคืบหน้ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเวียดนามต่อไป
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรและมกอช.อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอให้จีนอนุญาตการขนส่งผลไม้สดผ่านเส้นทางที่มีศักยภาพนอกเพิ่มเติมจากเส้นทางเดิมที่ไทยและจีนมีพิธีสารร่วมกันในปัจจุบัน คือ เส้นทางเส้นทาง R3A และเส้นทาง R9 เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนการขนส่งให้แก่ผู้ประกอบการ เนื่องจากในปัจจุบันมีเส้นทางอื่นๆ ที่มีศักยภาพในการขนส่งเพิ่มขึ้น โดยในระหว่างนี้ กรมวิชาการเกษตร ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักด้านการตรวจสอบและกักกันพืช จะตรวจสอบและควบคุมให้สินค้าผลไม้สดจากไทยที่ส่งออกไปจีนเป็นไปตามเงื่อนไขในพิธีสารดังกล่าวและสอดคล้องกับเงื่อนไขการนำเข้าของจีนอย่างเคร่งครัด พร้อมเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการส่งออก เช่นการตรวจสอบตามมาตรการสุขอนามัยพืช ณ โรงคัดบรรจุ การปรับเปลี่ยนรูปแบบซีลตู้สินค้าและฉลาก รวมทั้งการเชื่อมโยงใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเลกทรอนิกส์ เป็นต้น