ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยต่างๆ ในความดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีคณะแพทยศาสตร์จำนวน 23 แห่ง ซึ่งโรงพยาบาลมีจำนวนกว่า 14,475 เตียง และมีแพทย์ พยาบาลที่มีประสบการณ์ มากกว่า 23,758 คน พร้อมรับสถานการณ์ไวรัสโคโรนาดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที
รมว.อว. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ตนยังได้มอบหมายให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการดำเนินการด้านการวิจัยและวิชาการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยจะดำเนินการใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องโดยเครือข่ายนักวิจัยและอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ การจัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการวิจัยและวิชาการเพื่อเชื่อมโยงการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งการขับเคลื่อนให้เกิดการวิจัยเชิงรุกเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาของประเทศ โดย วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยพิเศษและเร่งด่วน ในประเด็นเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แล้วตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. 2563 ตลอดจนได้จัดประชุม "รวมพลคนวิจัย นักวิจัยไทยพร้อมสู้ภัยไวรัสโคโรนา" ไปเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา มีนักวิจัยเข้าร่วมจำนวนมาก เพื่อรวบรวมสรรพกำลังด้านการวิจัยรวมทั้งประเด็นวิจัยเร่งด่วนที่เห็นควรดำเนินการโดยเร็ว
การบูรณาการการทำงานอย่างเร่งด่วนของหน่วยงานทั้งในกระทรวง อว. และนอกกระทรวงจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าประเทศไทยพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกกรณีได้อย่างแน่นอน