นายสเปญ จริงเข้าใจ กรรมการผู้จัดการ บริษัทจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ GCAP กล่าวว่า บริษัทซึ่งเป็นผู้นำบริการด้านสินเชื่อสำหรับลูกค้าเกษตรกร มานานกว่า 15 ปี ไม่ว่าจะเป็นรถเกี่ยวข้าว รถแทรกเตอร์ รถพรวนดิน เครื่องรีดยางเครป เป็นต้น เล็งเห็นถึงปัญหาทางธรรมชาติในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการเกษตร
ทั้งนี้ ผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงปี 2562 รวมถึงปัญหาภัยแล้งในปี 2563 ที่ดูเหมือนจะเข้าขั้นวิกฤตในรอบหลายสิบปี และจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างชัดเจนโดยมีการประเมินมูลค่าความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทในหลายจังหวัดที่มีการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัย
"ปัญหาภัยแล้งในปีนี้ถือว่ารุนแรงมาก ผลกระทบต่อเกษตรกรในปีนี้กระจายไปในวงกว้าง ลูกค้าของบริษัทในหลายพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน แต่เราก็จะพยายามหามาตรการที่จะเข้ามาช่วยลดผลกระทบในช่วงนี้ให้ลูกค้าได้เดินต่อไปได้ก่อน" นายสเปญกล่าว
ที่ผ่านมาปัญหาในลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นรุนแรงบ้างไม่รุนแรงบ้าง บริษัทก็มีมาตรการและแนวทางในการช่วยเหลือต่อลูกค้าบริษัท เพื่อลดความเดือดร้อนในหลายๆกรณี สอดรับกับมาตรการของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีการนำเสนอและออกมาตรการหลายเรื่อง เช่น การพักชำระหนี้ของเกษตรกร การปรับโครงสร้างหนี้ หรือการขยายเวลาการผ่อนชำระหนี้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทพร้อมที่จะพิจารณาความช่วยเหลือ เพื่อลดผลกระทบ และบรรเทาปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าของบริษัท เพื่อให้ลูกค้าจะยังสามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างไม่ลำบากจนเกินไปในช่วงที่สถานการณ์ยังอยู่ในช่วงวิกฤตอย่างในปัจจุบัน
นายสเปญ ยังกล่าวต่ออีกว่า นอกเหนือจากกลุ่มลูกค้าเกษตรกรซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มหลักของบริษัท บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับลูกค้าในกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พ่อค้า แม่ค้า พนักงานบริษัท หรือผู้ประกอบการทางธุรกิจ โดยยังเน้นการปล่อยสินเชื่อที่สอดรับกับความต้องการอย่างระมัดระวัง มีกระบวนการการพิจารณาอย่างรอบคอบในสินเชื่อทุกประเภท
ทั้งนี้ บริษัทยังมีการนำเทคโนโลยีในด้านต่างๆที่จะเป็นประโยชน์ทั้งกับลูกค้า และกับบริษัทเข้ามาปรับใช้เพื่อลดกระบวนการขั้นตอนการทำงานที่ทับซ้อน รวมทั้งเพื่อเป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าของบริษัท ไม่ว่าจะเป็น การขอสินเชื่อออนไลน์ การส่งใบแจ้งหนี้ ช่องทางการชำระเงิน หรือเช็คข้อมูลส่วนตัวผ่านออนไลน์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการปล่อยสินเชื่อจะยังมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่กระบวนการต่างๆที่จะนำเข้ามาใช้เพิ่มเติมจะช่วยเพิ่มความรัดกุม รอบคอบ รวดเร็วในหลายๆมิติมากขึ้น เพื่อให้สมกับการเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเพื่อเกษตรกร และลูกค้ารายย่อยของบริษัทต่อไป