นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเดือนมกราคม 2563 ตลาดหลักทรัพย์ไทยได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะจากการระบาดของโคโรน่าไวรัสซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การควบคุมโรคมีแนวโน้มที่ดี จากความเข้มงวดของรัฐบาลจีน และการรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพในประเทศไทย แม้ว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันในเดือนมกราคม แต่ในระยะยาวเศรษฐกิจไทยยังคงเดินหน้าต่อไปได้ด้วยปัจจัยขับเคลื่อนอื่น ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน การส่งออกในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่า และการลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะโครงการต่อเนื่องของระบบคมนาคม
ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย
- ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ณ สิ้นเดือนมกราคมปี 2563 ปิดที่ 1,514.14 จุด ลดลง 4.2% จากสิ้นปีก่อน โดย กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มทรัพยากร และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ให้ผลตอบแทนมากกว่า SET Index
- ในเดือนมกราคม 2563 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทย 17,230 ล้านบาท
- มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมของ SET และ mai ในเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 62,987 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.4% จากค่าเฉลี่ยทั้งปี 2562
- Forward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ระดับ 15.2 เท่า และ 18.4 เท่าตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.9 เท่า และ 15.4 เท่าตามลำดับ
- อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ระดับ 3.4% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.9%
- มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของ SET และ mai ณ สิ้นเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท ลดลง 4.1% จากสิ้นปี 2562
- ในเดือนมกราคม 2563 มูลค่าการระดมทุนครั้งแรก (IPO) ของไทยอยู่ที่ระดับ 225 ล้านบาท ในขณะที่การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน (SPO) มีมูลค่ารวม 8,601 ล้านบาท
ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
- ในเดือนมกราคม 2563 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 482,707 สัญญา ซึ่งเพิ่มขึ้น 12.7% จากค่าเฉลี่ยทั้งปี 2562