ด้านนายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ในรอบปีการประมง 2561– 2562 นั้นกำลังจะสิ้นสุดลง ในวันที่ 31 มีนาคม 2563 กรมประมงจึงได้ออกประกาศกรมประมงเรื่อง กำหนดห้วงเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอนและเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ สำหรับปีการประมง 2563 – 2564 พ.ศ. 2563 โดยกำหนดห้วงเวลาให้ชาวประมงมายื่นคำขอ พร้อมเอกสารที่จะยื่นประกอบในการยื่นคำขอ สำหรับเครื่องมือที่ขอรับใบอนุญาตฯ นั้น แบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มเครื่องมือทำการประมงที่มีประสิทธิภาพสูง มีจำนวน 8 เครื่องมือ ได้แก่ อวนลากคู่ อวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง อวนล้อมจับ อวนล้อมจับปลากะตัก อวนครอบปลากะตัก อวนช้อน/ยกปลากะตัก และเรือประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เรือปั่นไฟ) และกลุ่มเครื่องมือทำการประมงที่มีประสิทธิภาพต่ำ จำนวน 14 เครื่องมือ ได้แก่ อวนครอบหมึก อวนช้อนปลาจะละเม็ด อวนติดตา อวนรุนเคย คราดหอยลาย คราดหอยแครง คราดหอยอื่น ลอบปลา ลอบปู ลอบหมึก ลอบหมึกสาย เบ็ดราว แผงยกปูจักจั่น และเบ็ดมือ
เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบในการยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์สำหรับปีการประมง 2563 -2564 ได้แก่
1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอรับอนุญาต ที่ยังไม่หมดอายุ
2. หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แสดงวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการประมง (กรณีเป็นนิติบุคคล) ที่มีอายุไม่เกิน 3 เดือน
3. หนังสือมอบอำนาจ พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีที่มีการมอบอำนาจ)
4. หนังสือรับรองสุขอนามัยเรือประมง (สร.3) (เฉพาะเรือประมงที่ใช้เครื่องมือประมงในการจับสัตว์น้ำและเก็บรักษาสัตว์น้ำไว้ในเรือ)
5. หนังสือยินยอมให้ใช้เรือประมง (กรณีที่มีการถือกรรมสิทธิ์ร่วมหรือมีสิทธิครอบครองในเรือประมงที่ขอรับอนุญาต)
6. แบบแจ้งชื่อเรือประมงที่ผู้ขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง พร้อมทั้งหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในเรือแต่ละลำ (กรณีครอบครองเรือประมงมากกว่า 1 ลำ)เรือประมงที่ต้องแจ้ง ได้แก่ เรือที่ใช้ทำการประมง เรือขนถ่ายเพื่อการประมง เรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็น เรือบรรทุกน้ำมันเพื่อการประมง เรือบรรทุกน้ำจืด เรือบรรทุกผลิตภัณฑ์น้ำมันที่มีจุดวาบไฟต่ำกว่า 60 องศาเซลเซียส (ขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอส แต่ไม่เกิน 1,000 ตันกรอส) หรือเรือบรรทุกผลิตภัณฑ์ที่มีจุดวาบไฟสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส (ขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอส แต่ไม่เกิน 1,000ตันกรอส) ทั้งเรือประมงไทยและเรือประมงต่างชาติ
7. เอกสารหรือหลักฐานที่แสดงว่าคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว ผู้ขอรับใบอนุญาตไม่มีความผิด (กรณีขอเครื่องมือประสิทธิภาพสูง ซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ รอบปีการประมง 2561 - 2562)
8. เอกสารหรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงว่าได้ใช้เครื่องมืออวนครอบ/ช้อน/ยกปลากระตัก ก่อนการตรวจวัด และจัดทำอัตลักษณ์เรือ (กรณีเรือพื้นบ้านหลังการตรวจวัดมีขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไป)
9. เล่มสำเนาทะเบียนบ้าน/เอกสารหรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงว่าผู้ขอรับใบอนุญาตมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ที่จะขอย้ายฝั่ง (กรณีขอย้ายพื้นที่ทำการประมงเครื่องมือประสิทธิภาพสูง)
10. ภาพถ่ายหรือภาพถ่ายดิจิทัลของเรือประมง จำนวน 3 รูป ดังนี้
- ภาพอัตลักษณ์เรือที่เห็นชัดเจน จำนวน 1 รูป
- ภาพหัวเรือที่เห็นชื่อเรือ ทะเบียนเรือ (กรณีที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ อยู่เดิมจะต้องมีเครื่องหมายประจำเรือปรากฏอยู่ในภาพถ่ายด้วย) จำนวน 1 รูป
- ภาพถ่ายเรือเต็มลำด้านซ้ายหรือด้านขวา จำนวน 1 รูป
กระทรวงเกษตรฯ ขอเน้นย้ำให้พี่น้องชาวประมงที่ประสงค์จะทำการประมงพาณิชย์ในรอบปีการประมง 2563 – 2564 นี้ มายื่นขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานประมงอำเภอติดทะเลทุกแห่ง และสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมประมง ตั้งแต่วันที่ 5 – 29 กุมภาพันธ์ 2563 เท่านั้น เพื่อเป็นการรักษา"สิทธิ" ของตนเองที่จะสามารถทำการประมงพาณิชย์ในรอบปีการประมงที่จะถึงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากไม่มายื่น จะไม่มีสิทธิออกไปทำการประมง ทั้งนี้ ในการพิจารณาการขอรับใบอนุญาตผู้ขอรับอนุญาตและเรือประมงต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามในการได้รับอนุญาตให้ทำการประมง ส่วนการจัดสรรใบอนุญาตเป็นไปตามแนวทางและหลักเกณฑ์การจัดสรรใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ที่คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติเห็นชอบ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประมงอำเภอ หรือสำนักงานประมงจังหวัดท้องที่ติดทะเลทุกแห่ง หรือที่กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง โทรศัพท์ 0 2561 1418, 0 2561 4689 และ0 2562 0600 เบอร์ภายใน 2101, 2105