นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สอศ.ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในการพัฒนาสถานศึกษาอาชีวะวิถีพุทธ โดยได้น้อมนำหลักพุทธธรรมเข้าไปบูรณาการกับหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน จัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้านพระพุทธศาสนาในวันสำคัญทางศาสนา วันสำคัญแห่งชาติ จิตอาสา การเข้าค่ายคุณธรรม ตลอดถึงการมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมส่งเสริมศีลธรรมและการเรียนรู้ด้านพระพุทธศาสนา เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการตระหนักถึงคุณค่าของการดำเนินชีวิต ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างเป็นวิถีชีวิต ตลอดจนมีทักษะวิชาชีพควบคู่กับทักษะชีวิตที่มีพุทธธรรมเป็นฐาน เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวมรอบด้านทั้งพฤติกรรม จิตใจ ปัญญา ตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา สะท้อนอัตลักษณ์วิถีวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทย บ่มเพาะให้เป็นคนดี เก่ง มีวินัย คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม พัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ สอดรับเป้าหมายการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 ทั้งนี้ มีสถานศึกษาอาชีวศึกษาที่ได้รับมอบโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นสถานศึกษาอาชีวศึกษาวิถีพุทธ จำนวน 19 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคคูเมือง วิทยาลัยอาชีวศึกษาเลย วิทยาลัยอาชีวศึกษาร้อยเอ็ด วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี วิทยาลัยเทคโนโลยีศรีเทพพณิชยการ วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการมหาสารคาม วิทยาลัยเทคโนโลยีชัยบาดาล วิทยาลัยเทคโนโลยีวิเชียรบุรี วิทยาลัยเทคโนโลยีวานรนิวาส วิทยาลัยเทคโนโลยีตั้งตรงจิตรพณิชยการ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ SBAC วิทยาลัยอาชีวศึกษาไทเฉลิมราชชัยภูมิ วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจอยุธยา วิทยาลัยอาชีวศึกษาสันติราษฎร์ ในพระอุปถัมภ์ฯ วิทยาลัยอาชีวศึกษาดงหลวง วิทยาลัยเทคโนโลยีรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีบัวใหญ่ วิทยาอาชีวศึกษาปากน้ำโพ และวิทยาลัยอาชีวศึกษาจุลมณีศรีสะเกษ
พระราชปริยัติกวี, ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีอำนาจหน้าที่ในการศึกษา วิจัย ส่งเสริมและให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณร และคฤหัสถ์ รวมทั้งทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาสถานศึกษาอาชีวศึกษาในแนววิถีพุทธ โดยส่งเสริมให้สถานศึกษาประยุกต์ใช้ไตรสิกขาในการจัดการเรียนการสอน สนับสนุนพระสอนศีลธรรมเข้าไปปฏิบัติหน้าที่การสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาอาชีวศึกษา พัฒนารูปแบบ เทคนิค วิธีการสอนของพระสอนศีลธรรมมุ่งผลสัมฤทธิ์ให้สอดรับกับเป้าหมายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนกำหนดมาตรฐานตัวชี้วัด อัตลักษณ์ความเป็นสถานศึกษาอาชีวศึกษาวิถีพุทธ ขั้นตอนวิธีการประเมินคุณภาพสถานศึกษาอาชีวศึกษาวิถีพุทธ และแนวทางการดำเนินงานสถานศึกษาอาชีวศึกษาวีถีพุทธ อันจะเกิดผลดีแก่สถานศึกษาทั้งระบบ เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาคุณธรรมของคนในชาติได้ขับเคลื่อนไปอย่างเป็นรูปธรรม เห็นผล สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ภาครัฐมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นคน "ดี เก่ง มีคุณภาพ"