ข้อต้องระวังหากจะใช้ยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ รักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

พฤหัส ๐๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๒๐ ๑๓:๕๕
โดย ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล กรรมการ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เลขาธิการ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยและสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

จากความร่วมมือของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยและสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย ขอแนะนำข้อต้องระวังหากจะใช้ยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์รักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (LPV/r) เป็นยาต้านไวรัส ที่ได้รับรองให้ใช้รักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543 ใช้ร่วมกับยาต้านเอชไอวีอีก 1-2 ชนิดในการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่ในปัจจุบันมีการใช้น้อยลงเนื่องจากเป็นยาที่มีผลข้างเคียงมาก ที่พบบ่อยคือ คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย ผลข้างเคียงอื่นที่อาจพบได้คือ ตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ผื่น ไขมันในเลือดสูง และมีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ นอกจากนี้การรับประทานในระยะยาวมีความสัมพันธ์กับการเกิดเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและภาวะไตวายเรื้อรัง

มีหลักฐานว่า LPV/r มีฤทธิ์ต่อไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคซาร์สในหลอดทดลอง และมีข้อมูลในสัตว์ทดลองว่าใช้รักษาลิงที่เป็นโรคซาร์สได้ผล ทั้งมีการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยที่เป็นโรคซาร์สแบบรุนแรงพบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ LPV/r ตั้งแต่แรกมีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ยาหรือได้ยาช้า เนื่องจากข้อจำกัดของกระบวนการศึกษาวิจัยในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า LPV/r ได้ผลในรักษาการติดเชื้อติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ขณะนี้กำลังมีการทำการศึกษาในประเทศจีนประมาณว่าจะมีข้อสรุปเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ LPV/r ในการรักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในอีกประมาณ 6 เดือน

ถ้าจะมีการนำยานี้มาใช้รักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 สิ่งที่แพทย์ ผู้ป่วยและญาติต้องทราบและพึงระวังคือ

- LPV/r เป็นยาควบคุม ไม่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป ต้องสั่งโดยแพทย์เท่านั้น

- ในปัจจุบัน ยาได้รับการรับรองสำหรับเป็นหนึ่งในสูตรยาเฉพาะการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีเท่านั้น ยังไม่มีการรับรองให้ใช้รักษาการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น

- ควรมีการตรวจว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ในผู้ป่วยที่จะใช้ยา หากมีการติดเชื้อเอชไอวีอยู่ก่อน การได้รับยา LPV/r เพียงตัวเดียว ก่อให้เกิดเชื้อเอชไอวีดื้อยาได้ เนื่องจากได้รับยาเพียงชนิดเดียวไม่เพียงพอในการยับยั้งเชื้อเอชไอวี

- มีข้อห้ามในการใช้ คือ ผู้ที่ความบกพร่องของตับอย่างรุนแรง

- และที่สำคัญคือ การมีปฏิกิริยาระหว่าง LPV/r กับยาทั่วไปที่อาจพบได้บ่อยและมีผลร้ายแรง

ยาที่ห้ามใช้ร่วมกันเด็ดขาดคือ ยาลดไขมันชนิดซิมวาสแตตินและยากลุ่มเออร์กอตที่รักษาไมเกรน

การให้ LPV/r ร่วมกับซิมวาสแตติน ทำให้ระดับยาซิมวาสแตตินสูงขึ้น เกิดภาวะการสลายตัวของกล้ามเนื้อลาย อาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อ พบเอนไซม์กล้ามเนื้อสูง อาจรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ส่วนการให้ LPV/r ร่วมกับยากลุ่มเออร์กอต ทำให้ระดับยากลุ่มเออร์กอตสูงขึ้น ทำให้หลอดเลือดส่วนปลาย เช่น แขนหรือขา หดตัวอย่างรุนแรง เกิดภาวะการขาดเลือดปลายนิ้วมือเท้าเขียวคล้ำเนื้อเน่าตาย จนอาจต้องตัดนิ้วหรือถึงแก่กรรม ถ้าเป็นที่สมองทำให้ชักหรืออัมพาตหรือไม่รู้สึกตัวได้

ฉะนั้นหากจะมีการใช้ LPV/r เพื่อรักษาการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แพทย์ ผู้ป่วยและญาติต้องรับทราบและมีความรู้เกี่ยวกับประสิทธิภาพการรักษาและอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๗ เอ. เจ. พลาสท์ คว้า 2 รางวัลใหญ่ จาก SET Awards 2024 และได้รับการประเมิน CGR ดีเลิศ ระดับ 5 ดาว
๑๖:๑๓ เปิดมาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยเหลือ SMEs ถูกน้ำท่วมในงาน มันนี่ เอ็กซ์โป 2024 เชียงใหม่
๑๖:๓๙ หน้าหนาวมาเยือน! กรมอนามัยเตือนดูแลสุขภาพให้พร้อม เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย
๑๖:๕๗ เปิดรันเวย์อวดผลงานไอเดียสร้างสรรค์ของ 5 ผู้ชนะรางวัลทุนการศึกษา จากโครงการ Jaspal Group Scholarship Program
๑๖:๐๘ กิฟฟารีน แนะนำไอเทมเด็ด กิฟฟารีน เอช เอ็ม บี พลัส วิตามินดี 3 สำหรับช่วยดูแลมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
๑๕:๐๑ ไขข้อสงสัย สินเชื่อรถแลกเงินคืออะไร
๑๕:๓๘ ซื้อมอเตอร์ไซค์ ออกรถใหม่ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง
๑๕:๐๕ ยางขอบ 17 ยี่ห้อไหนดีที่ขับขี่สนุก และยังคงนุ่มสบาย
๑๔:๕๖ heygoody คว้าแชมป์จากเวที Thailand Influencer Awards 2024 ตอกย้ำความเข้าใจลูกค้า Introvert
๑๔:๐๓ เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 4 รางวัลใหญ่ระดับสากล ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเป็นองค์กรสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ