นายเฉลิมชัย เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับกลุ่มแกนนำเกษตรกรชาวสวนยาง ว่า วันนี้ได้หารือกับทุกภาคส่วนในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและยกระดับราคายางพารา ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนดูแลแก้ไขราคายางพารา โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ การยางแห่งประเทศไทย และเกษตรกรชาวสวนยาง ร่วมเป็นคณะกรรมการ ให้มีการประชุมร่วมกันเพื่อนำเสนอและร่วมหามาตรการแก้ไข ผลักดันให้มีราคาที่สูงขึ้น ในเบื้องต้นได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยกร่างคำสั่ง คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายอมรับว่าการทำงานติดขัดด้วยระเบียบต่าง ๆ จึงต้องกลับไปทบทวนและปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การทำงานราบรื่น และให้เป็นองค์กรของชาวสวนยางอย่างแท้จริง ซึ่งโครงการประกันรายได้ยางพาราขณะนี้ได้ผ่านระยะแรกจากความเห็นชอบของ ครม. ไปแล้ว เหลือแต่กระบวนการตรวจสอบพื้นที่ที่อาจล่าช้า ก็ได้เร่งรัดให้ กยท. เข้าตรวจสอบ
สำหรับข้อเรียกร้องเร่งด่วนที่แกนนำได้เสนอในวันนี้ จะดำเนินการแก้ไขผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนดูแลแก้ไขราคายางพาราที่อยู่ระหว่างการยกร่างคำสั่ง ประกอบด้วย 1) ขอให้มีมาตรการควบคุม ติดตามและดูแลราคายางทุกชนิด เพื่อไม่ให้ถูกกดราคาจากพ่อค้าผู้ส่งออก เช่น ราคาน้ำยางสด ราคายางแผ่นดิบ และราคายางแผ่นรมควัน เพื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้ขายยางด้วยราคาตามตลาดที่เป็นจริง และ 2) ในโครงการประกันรายได้ ให้คิดราคายางโดยลบค่าการจัดการและค่าขนส่งจากราคาโรงงานน้ำยางข้น จำนวนกิโลกรัมละ 4.50 บาท ก่อนการนำมาคำนวณ เป็นราคาอ้างอิงในการประกันรายได้ ส่วนข้อ 3) ขอให้ปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินในโครงการรายได้ระยะที่ 3 ให้เป็นการจ่ายแบบครอบคลุมและทั่วถึง แทนการคำนวณเป็นราคาอ้างอิงแต่ละชนิดยางนั้น จะขอนำกลับไปพิจารณาดูความเหมาะสม และจะเสนอกลับมายังตัวแทนอีกครั้ง
จากนั้น รมว.เกษตรฯ เดินทางไปยังศาลาประชาคม อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เพื่อร่วมคณะรับฟังชี้แจงโครงการประกันรายได้แก่เกษตรกร โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ เข้าร่วม
นายเฉลิมชัย กล่าวถึงความก้าวหน้าการช่วยเหลือเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามนโยบายรัฐบาล พื้นที่จังหวัดพัทลุง (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.พ.63) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร ได้ดำเนินโครงการประกันรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และโครงการตามนโยบายรัฐบาลอื่น ๆ โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้ 1) โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนจำนวน 17,012 ครัวเรือน พื้นที่ 119,393.03 ไร่ ธ.ก.ส. จ่ายเงินแล้วจำนวน 12,246 ราย เป็นเงิน 40,842,000 บาท 2) โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562/63 มีเกษตรกรชาวสวนปาล์มขึ้นทะเบียนจำนวน 12,156 ครัวเรือน พื้นที่ 100,514.50 ไร่ ธ.ก.ส.จ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรแล้วจำนวน 9,959 ครัวเรือนเป็นเงิน 51,256,717.23 บาท 3) โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ปี 2562/2563 มีพื้นที่ปลูกยาง 1,001,904 ไร่ มีเกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมโครงการที่มีเอกสารสิทธิ์ (บัตรเขียว) จำนวน 67,886 ราย จำนวน 663,498.90 ไร่ มีเกษตรกรชาวสวนยางเข้าร่วมโครงการที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ (บัตรสีชมพู) จำนวน 10,614 ราย จำนวน 116,585.82 ไร่ ธ.ก.ส. จ่ายเงินแล้ว จำนวน 61,857 ราย เป็นเงิน 677,178,705.45 บาท 4) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/2563 มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนจำนวน 17,012 ครัวเรือน พื้นที่ 119,393.03 ไร่ มีการจ่ายเงินให้เกษตรกรแล้ว จำนวน 4,775 ราย เป็นเงิน 75,983,832.24 บาท 5) โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/2563 มีการจ่ายเงินให้เกษตรกร จำนวน 15 ราย เป็นเงิน 61,750.00 บาท