ในโอกาสนี้ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชนที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของการพัฒนาประเทศในด้านการพัฒนากำลังคน เพื่อผลิตช่างเทคนิคที่มีคุณลักษณะเฉพาะสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเป็นการเปิดโอกาสและโลกการเรียนรู้ให้กับนักศึกษา ที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่มั่งคง นับได้ว่าเป็นความสำเร็จที่สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน ได้อย่างมีคุณภาพ
ด้านนางปัทมา วีระวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า โครงการพัฒนา ช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี หรือวี-เชฟ (V-ChEPC) ของวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ที่ประสบผลสำเร็จ ในการพัฒนานักศึกษาอาชีวะ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และกลุ่มพลังงานไฟฟ้า ให้เป็นคนเก่งและดี เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบ Constructionism ต้นแบบความร่วมมือและการเรียนรู้ เพื่อมุ่งพัฒนาทักษะชีวิตให้เชื่อมโยงกับโลกการทำงาน จบออกมาได้งานและรายได้ดี
โดยในวันนี้กลุ่มอุตสาหกรรมด้านปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และกลุ่มพลังงานไฟฟ้า จากบริษัทต่าง ได้มอบเงินสนับสนุนในส่วนของโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี ประจำปี พ.ศ. 2563 รวมจำนวน 9,500,000 บาท (เก้าล้านห้าแสนบาท) ดังนี้ 1. บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) 3,500,000 บาท 2. บริษัท เอสซีจี เคิมีคอลล์ จำกัด 3,000,000 บาท 3. กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย 500,000 บาท 4. กลุ่มบริษัท อูเบะ (ประเทศไทย) 500,000 บาท 5. บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) 1,000,000 บาทและ 6. บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 1,000,000 บาท
รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพิ่มเติมว่าพร้อมกันนี้ในกลุ่มสถานประกอบการได้มอบเงินสำหรับสนับสนุนโครงการพัฒนาช่างเทคนิคสาขางานไฟฟ้าควบคุม เพิ่มอีก 1 โครงการ เป็นเงินรวมจำนวน 1,400,000 บาท จาก บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 500,000 บาท บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด 500,000 บาท สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน 200,000 บาท และ บริษัท บี. กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 200,000 บาท
โครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี หรือวี-เชฟ ของวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จมากในการพัฒนานักศึกษาอาชีวะสาขาปิโตรเคมี โดยมีรูปแบบการเรียนการสอนด้วยการพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) ที่มีการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพปิโตรเคมี การจัดการเรียนการสอนตามมาตรฐานอาชีพ และการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และความสำคัญอีกประการ คือ เป็นการจัดอาชีวศึกษาในระบบทวิภาคี ที่ได้มีการระดมทรัพยากร การวัดผลและประเมินผล ร่วมกับสถานประกอบการ รวมถึงการสร้างเส้นทางอาชีพ และการวิจัยและพัฒนาในการผลิตกำลังคนรองรับเขตพื้นที่ EEC มาอย่างเข้มแข็งต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 12 ปีแล้ว ส่งผลให้ผู้สำเร็จการศึกษามีงานรองรับทั้งหมด 100 % และได้รับค่าตอบแทนสูง
"โครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี Vocational Chemical Engineering Practice College (V-ChEPC) ได้เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด มูลนิธิศึกษาพัฒน์ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาช่างเทคนิคที่มีความสามารถเฉพาะทางด้านปิโตรเคมี ปัจจุบันมีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาไปแล้วทั้งหมด 10 รุ่น จำนวน 363 คน"