องคมนตรี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย ในฐานะประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า จากการที่เอสซีจีได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) มาตั้งแต่ปี2558 ในการสนับสนุนชุมชนที่ประสบภัยแล้งซ้ำซากให้บริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ด้วยการพึ่งพาตนเอง ใน 9 พื้นที่ทั่วประเทศ ช่วยให้มีน้ำสำรองกว่า 16 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนกว่า 6,700 ครัวเรือน มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร
ด้วยเล็งเห็นว่าปัญหาภัยแล้งปีนี้รุนแรงมากที่สุดในรอบ 40 ปี และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างมาก เอสซีจี จึงได้ร่วมกับ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สสน. และสยามคูโบต้า จัดโครงการ "เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง" เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเอสซีจีครบรอบ 108 ปี ในปี 2564 ส่งเสริม 108 ชุมชนที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก แต่มีความสามัคคี เข้มแข็ง พร้อมเรียนรู้การจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ให้สามารถวางแผนการจัดการน้ำด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งได้ด้วยตนเองตลอดกระบวนการ โดยใช้ระยะเวลา 2 ปี ภายใต้งบประมาณ 30 ล้านบาท และมีชุมชนแกนนำของอุทกพัฒน์ฯ รวมทั้งเอสซีจีร่วมเป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้ชุมชนรอดพ้นวิกฤตและไม่ประสบภัยแล้งอีกต่อไป พร้อมได้รับความช่วยเหลือจากกำลังพลกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 ร่วมสำรวจและพัฒนาพื้นที่ประสบภัยแล้งด้วย
ปัจจัยสำคัญของการอยู่รอดจากภัยแล้งอย่างยั่งยืนนั้น คือ "คนในชุมชนต้องร่วมแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยใช้ความรู้คู่คุณธรรม" ซึ่งต้องเริ่มจากการทำให้คนในชุมชนมีความรู้ รัก สามัคคี ลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเอง และแก้ไขปัญหาร่วมกัน ขณะเดียวกันต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของ และส่งเสริมคุณธรรมให้เกิดการแบ่งปันการใช้น้ำอย่างเป็นธรรม ไม่เช่นนั้นอาจเกิดการกระทบกระทั่งกันได้ หากชุมชนสามารถจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริดังกล่าวได้ด้วยตนเอง ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งน้ำแล้งและน้ำหลาก มีน้ำมาใช้ในการเพาะปลูก ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น มีรายได้ ขจัดความยากจนให้หมดไป
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่าภัยแล้งเป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลกจากความผันผวนของภูมิอากาศ สำหรับประเทศไทย แม้จะมีฝนตกเฉลี่ย 7-8 แสนล้าน ลบ.ม. ต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรของประชาชน แต่หลายภาคส่วนยังขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำ จึงเกิดความไม่สมดุลระหว่างปริมาณน้ำที่มีกับความต้องการใช้ ทำให้เกิดภัยแล้งและน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ดังนั้น จึงต้องเก็บกักน้ำในช่วงเวลา 3-4 เดือนที่มีน้ำ ให้พอใช้ในอีก 9 เดือนที่เหลือ เพื่อแก้ไขภัยแล้งได้สำเร็จ และคนในชุมชนต้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตนเอง เพราะเป็นผู้ที่เข้าใจสภาพพื้นที่ของตัวเองดีที่สุด รวมถึงประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการน้ำ ให้สามารถมีน้ำใช้ได้ตลอดปี ไม่ประสบภัยแล้งอีกต่อไป
"ชุมชนที่จะแก้ปัญหาภัยแล้งได้นั้น 1. ต้องเป็นชุมชนเข้มแข็ง มีความรู้และความสามัคคี ต้องการลุกขึ้นมาจัดการน้ำด้วยตนเอง 2. มีแหล่งน้ำอยู่ใกล้เคียง 3. หาที่กักเก็บน้ำ โดยอาจปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่ เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้น้ำ และใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการน้ำ กระจายน้ำสู่ชุมชน เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม GPS และโซลาร์ฟาร์มเพื่อประหยัดไฟฟ้า ซึ่งถ้าทุกคนลุกขึ้นมาช่วยกันก็จะสามารถข้ามผ่านวิกฤตภัยแล้ง และมีน้ำกิน น้ำใช้ อยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร" ดร.สุเมธ กล่าว
ด้าน นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า "ตลอด 41 ปีที่สยามคูโบต้าอยู่เคียงข้างเกษตรกรไทย ทำให้เราเห็นผลกระทบของภัยแล้งที่เกิดขึ้นในภาคการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง หากเกษตรกรไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ก็จะทำให้การเพาะปลูกยากขึ้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิตได้ สยามคูโบต้ามีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องจักรกลการเกษตรและอะกริโซลูชันเกษตรครบวงจร หรือ KAS จึงได้สนับสนุนความรู้และการขุดแหล่งน้ำด้วยรถขุดขนาดเล็กคูโบต้า โดยมุ่งหวังว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในครั้งนี้จะช่วยให้ชุมชนมีสระน้ำที่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพและรายได้ที่มั่นคง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านเกษตรกรรมของประเทศไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน"
นอกจากนี้ เอสซีจียังแบ่งปันน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วจำนวนประมาณ 4 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี ให้ชุมชนรอบโรงงานได้รับประโยชน์สำหรับทำการเกษตรในพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ เพื่อช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูก และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร พร้อมตรวจสอบคุณภาพน้ำและผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้น้ำบำบัดของโรงงานตามมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสนับสนุนพื้นที่ในเหมืองทราย 8 แห่ง และพัฒนาเหมืองเก่า 7 แห่ง ให้สามารถกักเก็บน้ำได้รวม 44.3 ล้าน ลบ.ม. เพื่อมอบให้เป็นแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ของชุมชน
เอสซีจี และเครือข่าย เชื่อมั่นว่าหากชุมชนมีความสามัคคีและลุกขึ้นมาจัดการน้ำแบบพึ่งพาตนเอง โดยใช้ความรู้และเทคโนโลยีในการวางแผนการใช้น้ำ จะช่วยให้มีน้ำสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืนต่อไป โดยชุมชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อได้ที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) โทร.086-626-6233 หรืออีเมล [email protected]