นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สละเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย สามารถเจริญเติบโตได้ในเกือบทุกพื้นที่ ปลูกมากในเขตภาคตะวันออกการส่งออกตลาดต่างประเทศจะเป็นลักษณะผลเดี่ยวโดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ พม่า รัสเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และมัลดีฟส์ ในปี 2562 มีปริมาณการส่งออกผลสละเฉพาะที่มีใบรับรองสุขอนามัยพืชปริมาณ 395,903 กิโลกรัม มูลค่าการส่งออกจำนวน 8,110,150 บาท
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสละเป็นผลไม้มีหนามที่เปลือกทำให้ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคส่วนใหญ่คือหนามที่เปลือกเป็นอุปสรรคต่อการรับประทาน ดังนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคสามารถรับประทานผลสละได้ง่ายขึ้น และเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผลไม้ชนิดนี้ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี สถาบันบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร จึงได้วิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลต้นแบบสำหรับการขัดหนามออกจากผลสละ โดยใช้ระยะเวลาในการวิจัยและพัฒนาเครื่องต้นแบบ 2 ปี โดยเริ่มตั้งแต่การศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพของผลสละ การออกแบบและสร้างเครื่องต้นแบบทั้งเครื่องขนาดเล็กสำหรับเกษตรกรรายย่อย และเครื่องขนาดใหญ่สำหรับผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี ได้พัฒนาเครื่องจักรกลออกแบบเป็นเครื่องขัดหนามผลสละต้นแบบโดยใช้หลักการทำงานรูปแบบตะแกรงโยกแบบมีมุมเอียงเพื่อให้ผลสละเกิดการขัดสีกับพื้นผิวตะแกรงและขัดสีระหว่างผลสละด้วยกันเอง ทำให้หนามของผลสละหลุดออกและลอดผ่านพื้นตะแกรงโยกสู่ด้านล่างของเครื่อง รวมถึงมีการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าจนกระทั่งออกจากเครื่อง และติดตั้งชุดแปรงขัดหนามสละเพื่อช่วยในการขัดหนามผลสละให้หมดในช่วงท้ายของการทำงาน ซึ่งนอกจากจะขัดหนามผลสละออกจนหมดแล้วยังทำให้ผลสละสะอาดขึ้นด้วย นอกจากนี้ เครื่องขัดหนามผลสละยังมีชุดดูดหนามเข้าสู่ถังเก็บหลังการขัดหนามผลสละ ทำให้พื้นที่บริเวณการทำงานมีความสะอาด โดยการทำงานของเครื่องขัดหนามสละจะเป็นแบบอัตโนมัติ สามารถเขียนโปรแกรมสำหรับควบคุมลำดับและระยะเวลาการทำงานของชุดอุปกรณ์ต่างๆ ได้ทั้งหมด
เครื่องขัดหนามผลสละมีความสามารถในการทำงาน 900 กิโลกรัม/ชั่วโมง สามารถขัดหนามผลสละได้หมดโดยไม่เกิดความช้ำของเนื้อสละซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการกำจัดหนามที่ต้องถนอมเนื้อสละไม่ให้ได้รับผลกระทบด้วย โดยผลสละที่กำจัดหนามออกด้วยเครื่องขัดหนามสามารถเก็บรักษาได้เกิน 3 วันที่อุณหภูมิแวดล้อมปกติ จากผลการวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์วิศวกรรมจากการลงทุนใช้เครื่องต้นแบบในการขัดหนามผลสละ พบว่า มีต้นทุนค่าใช้จ่าย 82 บาท/กิโลกรัม ในขณะที่การใช้แรงงานคนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่ 90 บาท/กิโลกรัม เมื่อทำการขัดหนามผลสละในปริมาณที่เท่ากัน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เกษตรกรจังหวัดตราดสนใจที่จะทำสละไร้หนามเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรีจึงได้นำเครื่องต้นแบบขัดหนามสละไปให้ทดสอบการใช้งานเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และยอมรับ จากเดิมที่ใช้วิธีกำจัดหนามสละโดยใช้ช้อนขูดเบาๆ ที่ผิวสละเพื่อป้องกันการเกิดรอยช้ำที่ผลสละ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวใช้แรงงานมาก และมีความสามารถในการขัดหนามสละเพียง 5 กิโลกรัม/ชั่วโมง/คนเท่านั้น รวมทั้งความไม่สม่ำเสมอในน้ำหนักการใช้ช้อนขูด ทำให้เกิดเป็นวงช้ำสีดำที่เนื้อสละไม่สามารถจำหน่ายได้ นอกจากนี้ สหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จ.จันทบุรีได้นำเครื่องต้นแบบขัดหนามผลสละไปทดสอบการใช้งานเพื่อทดแทนเรงงานคนซึ่งกำลังเป็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่สำคัญในปัจจุบันนี้ด้วย
การทำให้ผลสละไม่มีหนามทำให้เป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคมีโอกาสในการรับประทานผลสละมากขึ้น เป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ผลสละไร้หนามสู่ผู้บริโภค และยังเป็นการสนับสนุนกลุ่มแปรรูปสละลอยแก้ว ซึ่งต้องใช้แรงงานและเวลาในการแกะผลสละในปริมาณมากเพื่อให้ได้เนื้อสละไปแปรรูปซึ่งเครื่องขัดหนามสละเป็นเครื่องมือที่จะช่วยอำนวยความสะดวกภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว ช่วยลดระยะเวลาในการทำงานและประหยัดต้นทุนในการจ้างแรงงานด้วย