ภายในงานมีผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน และองค์กรต่างประเทศ เข้ามาร่วมขึ้นกล่าว รับฟัง และแลกเปลี่ยนความเห็น อาทิ ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดร. นพ. สรภพ เกียรติพงษ์สาร ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา และการนำเสนอรายงานเรื่อง "ผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย: ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต" โดย มร. สเตฟาโน สกูรัตติ ผู้อำนวยการด้านนโยบายสาธารณะประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจาก The Economist Intelligence Unit
สำหรับในช่วงเสวนามีกลุ่มผู้นำองค์กรที่มาร่วมอภิปราย ประกอบด้วย ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และ รศ. ดร. วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส)
ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด คาดการณ์ถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต พร้อมแนะแนวทางในการเตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นสังคมอัจฉริยะอย่างยั่งยืน
"ขณะนี้ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายในด้านเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการเข้ามาสร้างผลกระทบ หน่วยงานแนวหน้าทุกภาคส่วนของประเทศจึงต้องทำหน้าที่เตรียมความพร้อม และเป็นผู้นำในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเป็นต้นแบบในการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโตในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ คือการลงทุนยกระดับเทคโนโลยีเพื่อสร้างเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ เนื่องจากเครื่องยนต์แบบเดิมเริ่มที่จะแผ่วแรงแล้วและไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนไทยได้อย่างเพียงพอ ประเทศไทยใน 10 ปีข้างหน้าจำเป็นต้องเน้นการสร้างทักษะเพื่อให้บุคลากรพร้อมปรับตัวและเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ตลอดจนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และให้โอกาสทั้งผู้เล่นรายเดิมและรายใหม่ในการสร้างนวัตกรรม รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ผู้เล่นรายใหญ่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ดีกว่า ภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ผู้เล่นภาคเอกชนสามารถต่อยอดในด้านนวัตกรรม และกำหนดกฎระเบียบเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน การสร้างธุรกิจใหม่ การจ้างงาน การสร้างมูลค่าของงาน และผลิตภาพของแรงงาน ในอนาคตภาคเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ธุรกิจส่วนใหญ่จะหันมาใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพตอบโจทย์ผู้บริโภค ที่สำคัญ ข้อมูลจะกลายเป็นทรัพยากรที่มีพลังและฉลาดมากขึ้นเมื่อถูกแชร์ข้ามสาขาธุรกิจในรูปแบบของเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy)" ดร.สุทธาภากล่าว
ดร.สุทธาภา ทิ้งท้ายถึงจุดยืนของ เอสซีบี อบาคัส ในฐานะองค์กรที่เป็นผู้นำด้าน Big Data และ AI ว่า "Intelligent Society คือสังคมที่ฉลาดใช้และแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน ดังนั้น เอสซีบี อบาคัส จึงจะเดินหน้าในการนำเอาข้อมูลและ AI มาใช้และแบ่งปันเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านเครื่องมือต่าง ๆ เช่น แอปพลิเคชั่นเงินกู้ที่ใช้ข้อมูลและ AI ในการพิจารณาสินเชื่อ และทุกขั้นตอนในการให้บริการเป็นดิจิทัล เพื่อให้บรรดาธุรกิจรวมถึงบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม"