นาย
ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงาน
เศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษก
กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า "ในวันนี้สำนักงานสภาพัฒนาการ
เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ประกาศอัตราการขยายตัวผลิตภัณฑ์ มวลรวมของไทยในไตรมาส 4 ปี 2562 ว่าขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 และ
เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2562 ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี ขยายตัวชะลอลงจากปี 2561 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปี โดยสาเหตุหลักของ
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ที่ขยายตัวชะลอลงมาจาก (1) มูลค่าการส่งออกสินค้า ที่หดตัวร้อยละ -4.9 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ทรงตัวร้อยละ 0.0 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และสภาวะ
เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว (2) ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวในระดับสูง โดยเฉพาะในหมวดยานยนต์จากการลดสายการผลิตรถยนต์รุ่นเดิมเพื่อรอเปลี่ยนโมเดลรถยนต์รุ่นใหม่ และหมวดน้ำมันปิโตรเลียมจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นชั่วคราวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเลียมหลายแห่ง ซึ่งในปัจจุบันได้กลับมาดำเนินการผลิตตามปกติแล้ว ดังนั้น ผลกระทบต่อผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นถือเป็นปัจจัยชั่วคราว และ (3) การลงทุนภาครัฐจะชะลอตัว โดยมีสาเหตุมาจากความล่าช้าของการบังคับใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2563 อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา แล้ว ขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจยังคงเบิกจ่ายได้ดี เป็นผลมาจาก
กระทรวงการคลังได้มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง โดยให้รัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายให้เร็วขึ้นในส่วนโครงการที่สามารถดำเนินการได้ก่อน (Front-Loaded) เพื่อให้เม็ดเงินลงทุนภาครัฐเข้าสู่ระบบ
เศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปี 2562 โดย ในช่วงดังกล่าว รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยรัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายได้ดี ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบทาง
เศรษฐกิจที่ขยายตัว เช่น การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากผลจากมาตรการกระตุ้น
เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 เช่น มาตรการชิมช้อปใช้ และมาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีผลต่อการบริโภคภาคเอกชนให้กลับมาฟื้นตัวและมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาการที่
กระทรวงการคลังออกมาตรการเพื่อดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์เมื่อเดือนธันวาคม 2562
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงรายได้ของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ในการนี้ กระทรวงการคลังจึงได้มีการดำเนินมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 โดยจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวผ่านสถาบันการเงินของรัฐ แบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบกิจการโรงแรมสามารถหักรายจ่ายสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายในการปรับปรุงกิจการโรงแรมเป็นจำนวน 1.5 เท่า ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศโดยการให้หน่วยงานสามารถหักรายจ่ายสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายในจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศเป็นจำนวน 2 เท่า รวมถึงบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชนผู้เสียภาษี โดยการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปเป็นภายในเดือนมิถุนายน 2563
กระทรวงการคลังได้มีการดำเนินมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนภายในประเทศ ปี 2563 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยและกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งประกอบด้วยมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และมาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาและปรับปรุงการผลิตสินค้าให้มีศักยภาพสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถก้าวผ่านสถานการณ์ดังกล่าวไปได้ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และมีความพร้อมที่จะดำเนินมาตรการดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีพื้นฐานแข็งแกร่ง ไม่มีแรงกดดันด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งอัตราเงินเฟ้อต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และฐานะทางการคลังสะท้อนจากหนี้สาธารณะต่อ GDP เพียงร้อยละ 41.3 ถือว่ายังอยู่ในระดับที่เข้มแข็งมาก