เพราะเชื่อว่า เด็กไทยทุกคนมีสิทธิ์ได้รับอากาศบริสุทธิ์ เพราะลมหายใจของเด็กคือลมหายใจของสังคม บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด จึงได้ริเริ่มโครงการ "Write to Breathe" ขึ้น โดยเริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2562 เพื่อมอบเครื่องฟอกอากาศเทคโนโลยีพลาสม่าคลัสเตอร์ให้กับโรงเรียนและมูลนิธิใน จ.เชียงใหม่ พร้อมนำวิทยากรมาให้ความรู้เด็กๆ ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ 'ชาร์ป' จึงสานต่อความสำเร็จของโครงการ Write to Breathe โดยจัดกิจกรรมขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ที่ จ.กาญจนบุรี โดย คุณมณีนภา ดวงดารา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด ได้เผยว่า "จ.กาญจนบุรี เป็นจังหวัดที่มีค่าเฉลี่ยคุณภาพอากาศในระดับวิกฤต ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตของเด็กๆ ที่นี่น่าเป็นห่วง นอกจากการมอบเครื่องฟอกอากาศ เพื่อให้เด็กๆ มีอากาศที่สะอาดหายใจในระหว่างการเรียนการสอนและทำกิจกรรม เรายังร่วมมือกับทาง ม.สวนดุสิต มาสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่เด็กๆ เกี่ยวกับพิษภัยของฝุ่น PM 2.5 ตลอดจนวิธีการดูแลตนเองให้ปลอดภัย ทั้งยังเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้ส่งเสียงเรียกร้องสิทธิที่เด็กและเยาวชนไทยควรได้รับ นั่นก็คือสิทธิในการได้อยู่ท่ามกลางอากาศที่สะอาด และได้หายใจอย่างเต็มปอด ผ่านการเขียนระดมความคิดจากความรู้ที่ได้จากการร่วมกิจกรรม เพื่อสะท้อนไปยังผู้ใหญ่ในสังคม ให้ร่วมกันรักษาสิทธินี้ให้กับพวกเขา และร่วมมือกันช่วยกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง จึงเป็นที่มาของชื่อโครงการ Write to Breathe"
จ.กาญจนบุรี เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีค่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับวิกฤต มีค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง เคยมีสถิติมีค่าเฉลี่ยสูงกว่ากรุงเทพมหานครอยู่หลายครั้ง โดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติของกรมควบคุมมลพิษในพื้นที่ รายงานค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 97 – 173 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยก่อนหน้านี้เคยวัดได้มากถึง 210 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อันเป็นระดับที่มีกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก
ครั้งนี้ บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด ได้มอบเครื่องฟอกอากาศทั้งสิ้น 42 เครื่อง มูลค่ารวม 629,580 บาท ให้แก่โรงเรียนและมูลนิธิเกี่ยวกับเด็ก ใน จ.กาญจนบุรี 15 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ โรงเรียนอนุบาลกาญจนบุรี โรงเรียนท่าม่วงราษฎร์บำรุง โรงเรียนท่ามะกาวิทยาคม โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ โรงเรียนด่านมะขามเตี้ยวิทยาคม โรงเรียนวัดโพธิ์ศรีสุขาราม โรงเรียนพนมทวนพิทยาคม โรงเรียนบ้านห้วยตลุง โรงเรียนวัดบ้านเก่า โรงเรียนบ้านหนองจอก โรงเรียนบ้านดอนตาอิฐ โรงเรียนบ้านโคราช โรงเรียนบ้านเด็ก-มูลนิธิเด็ก และสถาบันเพาะกล้า
ด้วยหวังว่าจะสามารถช่วยให้เด็กและเยาวชน ได้มีโอกาสนั่งเรียนในห้องเรียนโดยปราศจากมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผ่านการทำงานของเทคโนโลยีพลาสม่าคลัสเตอร์ที่อยู่ในเครื่องฟอกอากาศชาร์ป อันเป็นเอกสิทธิ์หนึ่งเดียว สามารถปล่อยอนุภาคไฟฟ้าบวกและลบในแบบเดียวกันกับในธรรมชาติ ให้ประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อโรค ทั้งแบคทีเรีย ราและไวรัส โดยเฉพาะไวรัสไข้หวัดนก ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ สลายสารพิษ สลายกลิ่นอับชื้น ตลอดจนสลายสารก่อภูมิแพ้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่นและละอองเกสรดอกไม้ ผ่านการรับรองจากสถาบันนานาชาติ 26 แห่ง และสถาบันทางการแพทย์ในไทยอีก 2 แห่ง[1]
พร้อมกันนี้ยังได้จัดกิจกรรมฐานการเรียนรู้ โดยร่วมมือกับ ศูนย์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.สวนดุสิต ให้กับเด็กๆกว่า 150 ชีวิต จากโรงเรียนต่างๆใน จ.กาญจนบุรี โดยออกแบบให้ครอบคลุมความรู้พื้นฐานทั้งหมดเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 ที่เด็กๆควรรู้ มีทั้งสิ้น 6 ฐาน ประกอบด้วย ฐานที่หนึ่ง PM 2.5 คืออะไร ให้เด็กๆได้มองดูฝุ่นผ่านกล้องจุลทรรศน์และเทียบขนาดฝุ่นกับเส้นผม ฐานที่สอง วัฏจักรของ PM 2.5 ไขข้อข้องใจให้เด็กๆ ได้ทราบว่าทำไมต้องเผชิญปัญหาฝุ่นอยู่ทุกปี ฐานที่สาม การก่อมลพิษ PM 2.5 ไฮไลท์อยู่ที่การสอนให้ดูแผนที่ของนาซ่าและกรมป่าไม้ เพื่อเห็นถึงจุดที่มีการเผาไหม้และทิศทางของฝุ่น ฐานที่สี่ การป้องกันตนจากมลพิษ PM 2.5 สอนวิธีการดูแลตนเอง โดยเฉพาะการเลือกใช้และสวมใส่หน้ากากอย่างถูกวิธี ฐานที่ห้า การเฝ้าระวังมลพิษ PM 2.5 สอนการใช้แอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนและวิธีการอ่านค่าต่างๆ เพื่อติดตามสถานการณ์ฝุ่นด้วยตนเอง และ ฐานที่หก การตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 นำเอาเครื่องมือตรวจวัดของจริงมาให้น้องๆได้เรียนรู้กลไกการทำงาน
หลังจากที่เด็กๆได้เข้าฐานการเรียนรู้จนครบถ้วนแล้ว แต่ละกลุ่มก็ได้ระดมความคิด ตกผลึกสิ่งที่ได้เรียนรู้ เพื่อออกมานำเสนอ พร้อมออกไอเดียแนะแนวทางแก้ไขปัญหา พร้อมเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม 'ชาร์ป' ยังมุ่งเดินหน้าสร้างการรับรู้ และความตระหนักถึงสิทธิในการหายใจท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ของเด็กๆ ผ่านการจัดกิจกรรมและมอบเครื่องฟอกอากาศ ภายใต้โครงการ Write to Breathe ในจังหวัดอื่นๆ ที่ประสบปัญหาด้วยเช่นกัน โดยคาดหวังว่ากิจกรรม "Write to Breathe" จะเป็นส่วนหนึ่งที่เยียวยาปัญหา และจุดประกายให้เกิดความร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ผ่านการเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้แสดงความคิดเห็นต่อสิทธิในการหายใจที่ตนเองควรได้รับ พร้อมกระตุ้นให้ทุกฝ่ายออกมาลงมือแก้ปัญหาหาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำคุณภาพชีวิตที่ดีให้กลับคืนมาสู่พื้นที่ ไม่เพียงแต่เด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงทุกชีวิตที่อยู่รวมกัน