คำประกาศเกียรติคุณ
ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม ประเภททั่วไป
นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ถือกำเนิด ณ หมู่บ้านร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2498 เป็นบุตรคนที่ 3 ของนายไพศาล และนางพรศรี อยู่สุข สำเร็จการศึกษา ศิลปบัณฑิต สาขาศิลปะไทย จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์(จิตรกรรมไทย) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2559
นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ รังสรรค์ผลงานศิลปะ ทั้งด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น และมีคุณค่าในทางศิลปะจำนวนมาก ที่สำคัญคือ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ให้เขียนภาพประกอบ บทพระราชนิพนธ์ "พระมหาชนก" และออกแบบเหรียญพระราชทานคณะแพทย์และพยาบาล ผู้รักษาพระหทัย เมื่อครั้งประชวรครั้งแรก เป็นที่ปรึกษากรมศิลปากร งานเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถานในพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ปรึกษาธนาคารแห่งประเทศไทย ออกแบบธนบัตรราชาภิเษกสมรส ครบ 50 ปี เขียนภาพจิตรกรรมติดพระตำหนัก จังหวัดกระบี่ เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดพุทธปทีป และผลงานจิตรกรรมหลายชิ้นที่ได้รับรางวัลจากการประกวดงานศิลปะ เช่น รางวัลที่ 1 เหรียญทอง จากการประกวดจิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ 3 ของธนาคารกรุงเทพ รางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 จากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 25 และได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2554 และได้รับรางวัล "ศาสตรเมธี" สาขาศิลปกรรมศาสตร์ ด้านส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. 2558 จากมูลนิธิศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
ผลงานที่กล่าวถึงข้างต้น ส่วนใหญ่เป็นผลงานด้านจิตรกรรม และประติมากรรม แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง คือผลงานด้านสถาปัตยกรรม ผลงานที่สำคัญที่สุดในชีวิตที่แสดงถึงความรู้ ความสามารถทางสถาปัตยกรรม และความรู้หลากหลายแขนงทางศิลปะมาประกอบกันคือ วัดร่องขุ่น หรือที่ถูกเรียกในระดับนานาชาติว่า The White Temple นั้น เกิดจากแรงบันดาลใจหลังจากที่ นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้เดินทางกลับมาจากการเขียนภาพจิตรกรรม ฝาผนังที่ วัดพุทธปทีป ได้มีโอกาสถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยร่วมในทีมวาดรูปประกอบ หนังสือพระมหาชนก เกิดแรงบันดาลใจ และตั้งใจว่าชีวิตนี้พร้อมจะถวาย เพื่อสร้างงานสถาปัตยกรรมไว้คู่พระบารมี จึงได้เริ่มลงมือออกแบบอุโบสถ วัดร่องขุ่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และดำเนินการต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน คุณค่าของงานสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ มิได้มีเพียงงานสถาปัตยกรรมที่งดงามและแฝงด้วยความหมายทางพุทธภูมิเท่านั้น หากยังประกอบด้วย การออกแบบผังบริเวณโดยรอบที่สะท้อนสัจธรรมตามคำสอนในพุทธศาสนา งานออกแบบภูมิทัศน์ โดยรอบที่ส่งเสริมงานสถาปัตยกรรม และความงดงามของการออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน รวมไปถึงงานวิจิตรศิลป์ เช่น ภาพเขียนภายในอุโบสถ และองค์ประกอบแวดล้อมทั้งหมดในงานสถาปัตยกรรมที่ปรากฏให้เห็น จึงอาจกล่าวได้ว่า วัดร่องขุ่น เป็นหนึ่งในงานสถาปัตยกรรมรูปแบบประเพณีทางศาสนา ที่เป็นตัวแทนแห่งรัชสมัยในรัชกาลที่ 9 สร้างคุณค่าทางด้านจิตใจต่อชุมชน อำเภอและจังหวัด รวมไปถึงความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ นอกจากนั้นยังสร้างมูลค่าและสร้างรายได้ กลับมาสู่ประเทศไทย จนถือว่าเป็น Destination in Thailand และได้รับการโหวตเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม และน่าประทับใจ ประเภทศาสนสถานเป็นลำดับที่3 ของโลก (3 Top 10 Underappreciated Wonders Of The World)
ด้วยประจักษ์ในผลงานด้านสถาปัตยกรรมแล้ว นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ มีส่วนสนับสนุน สร้างมูลค่า และสร้างรายได้ในด้านเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย และสังคมของประเทศ สภามหาวิทยาลัยศรีปทุม มีมติเป็นเอกฉันท์มอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม ประเภททั่วไป แก่นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป
"คนเราเกิดมามีการสั่งสมสันดาน จนเป็นคนนั้นๆ เช่น เกิดมาก็มีสันดานของตัวเอง ซึ่งทุกคนล้วนมีสันดานและตายไปกับสันดานนั้น ถือว่าไม่บรรลุธรรม เพราะไม่มีเปลี่ยนแปลงและไม่มีธรรมในใจ"