นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของการพัฒนาระบบการชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน Interoperable QR Code ซึ่งเป็นรูปแบบการชำระเงินที่สะดวกสบายและมีความปลอดภัย โดยขณะนี้เปิดให้บริการ QR Payment สำหรับการสแกนจ่ายด้วยโมบายแบงก์กิ้งของชาวกัมพูชาที่ต้องการชำระค่าสินค้าในประเทศไทยกับ QR Code ของทุกธนาคารในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่น ลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน Interoperable QR Code จะถูกแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลท้องถิ่นในทันที รองรับปริมาณธุรกรรมของนักท่องเที่ยวตลอดจนการค้าขายของทั้งสองประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ตามกรอบข้อตกลงระหว่างธนาคารกลางของทั้งสองประเทศที่จะพัฒนาให้ Interoperable QR Code รองรับการชำระเงินด้วยโมบายแบงก์กิ้งของชาวไทยที่เดินทางไปยังกัมพูชาได้เช่นเดียวกันนั้น ธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ หรือ CCB ดำเนินธุรกิจให้บริการทางการเงินสำหรับลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจในฐานะธนาคารท้องถิ่นในประเทศกัมพูชาเป็นเวลา 29 ปี จะร่วมพัฒนาและเชื่อมโยงระบบการชำระเงินของธนาคาร ตลอดจนสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) ในประเทศกัมพูชา รวมถึงธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นตัวกลางชำระเงินของทั้งสองประเทศ ให้สามารถรองรับการสแกนจ่ายเงินด้วย QR Code ของชาวไทยให้เกิดขึ้นจริงด้วยประสิทธิภาพ ซึ่งคาดว่าจะพร้อมให้บริการภายในไตรมาส 3 ปี 2563
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีร้านค้าในประเทศไทยที่รับชำระค่าสินค้าและบริการด้วย QR Code จำนวนมากกว่า 5 ล้านร้านค้าในทั่วประเทศ โดยเป็นร้านค้าที่ใช้งาน QR Code ของธนาคารไทยพาณิชย์จำนวน 1.5 ล้านร้านค้า ซึ่งพร้อมรองรับการชำระเงินของนักท่องเที่ยวกัมพูชาในประเทศไทยที่มีจำนวนถึง 1 ล้านคน เพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันในปัจจุบันคนไทยมีการใช้งานโมบายแบงก์กิ้งจำนวนมากกว่า 50 ล้านบัญชี โดยเป็นการใช้งานผ่านแอปพลิชัน SCB EASY จำนวน 10.6 ล้านบัญชี ซึ่งจะได้รับความสะดวกสบายในการชำระเงินมากยิ่งขึ้นผ่าน QR Payment กับทุกร้านค้าเมื่อเดินทางไปยังประเทศกัมพูชา
"ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ พร้อมที่จะนำศักยภาพในทุกด้านสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและเชื่อมโยงระบบการเงินของทั้งสองประเทศ เพื่อตอบโจทย์ให้กับลูกค้าแต่ละกลุ่มในทุกมิติ เนื่องด้วยระบบการเงินที่มีประสิทธิภาพจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การติดต่อค้าขาย ตลอดจนการลงทุน ที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน"