บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ร่วมประชุมสรุปผลการทดสอบนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แบบ Spot ลำเรือแรกของ กฟผ. โดยมีผู้บริหารจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) ให้เกียรติเข้าร่วม ณ ศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี จังหวัดชลบุรี โดยจากการประชุมครั้งนี้สรุปได้ว่า จากการสนับสนุนร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้การนำเข้า LNG ลุล่วงผ่านไปด้วยดี และผลจากการทดลองการนำเข้า LNG นี้ ทำให้ทราบโอกาสในการปรับปรุงที่ต้องนำกลับมาพิจารณาร่วมกัน เพื่อพัฒนาการดำเนินงานของทุกฝ่ายให้มีประสิทธิภาพ และสามารถดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่ TPA Code กำหนดได้อย่างเต็มรูปแบบต่อไป
ปตท. มีความพร้อมเปิดให้บุคคลที่สาม เข้ามาใช้ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก และพร้อมรองรับ Shipper รายใหม่ ตั้งแต่ปี 2558 และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ให้มีการนำเข้า LNG ของ กฟผ. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ในระยะที่ 1 ระยะดำเนินการโครงการนำร่อง เพื่อเปลี่ยนผ่านจากโครงสร้างกิจการและโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน ไปสู่โครงสร้างที่มีการแข่งขันและเพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการตามสภาพข้อเท็จจริง และสถานการณ์พลังงานในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นการทดสอบเพื่อชี้ชัดถึงอุปสรรคและข้อจำกัดต่างๆ โดยต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อ 21 ตุลาคม 2562 เห็นชอบให้ กฟผ. ทดลองนำเข้า LNG แบบ Spot จำนวน 2 ลำเรือ ลำเรือละประมาณ 65,000 ตัน ปริมาณรวมไม่เกิน 200,000 ตัน โดย ลำเรือที่ 1 นำเข้าในเดือนธันวาคม 2562 และลำเรือที่ 2 นำเข้าในเดือนเมษายน 2563
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2562 กฟผ. ได้นำเข้า LNG ลำเรือที่ 1 ปริมาณ 65,000 ตัน แล้วทำการแปลงสภาพ LNG จากของเหลวให้เป็นก๊าซ ส่งเข้าสู่ท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อไปใช้เป็นเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5 และโรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 ในระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2562 - วันที่ 21 มกราคม 2563 (ระยะเวลารวม 24 วัน) โดยการนำเข้า LNG ของ กฟผ. ในครั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ TPA Code ของ พีทีที แอลเอ็นจี และ ปตท. เท่าที่ไม่ขัดกับเงื่อนไขตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562