ทั้งนี้ แพทย์หญิงนันทกา เทพาอมรเดช ประสาทศัลยแพทย์ โรงพยาบาลยะลา เป็นหนึ่งในบุคลากรคนสำคัญที่เสียสละตัวเองลงไปปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ปี 2545 จากการจับสลากเพื่อใช้ทุนและเรียนต่อเฉพาะทางเป็นเวลา 3 ปี เพื่อกลับไปเป็นอาจารย์หมอที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับมาทำงานต่อที่โรงพยาบาลยะลา เนื่องจากที่นี่ยังต้องการแพทย์ระบบประสาท จนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 10 ปีที่ยังคงทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่เสี่ยง นับตั้งแต่ปี 2547 ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้น จนหมอหลายคนที่เคยประจำอยู่ขอย้ายออกด้วยเหตุผลในเรื่องความไม่ปลอดภัย
แพทย์หญิงนันทกา กล่าวว่า การได้เครื่องมือทางการแพทย์ชุดนี้มาสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มาก โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและอุบัติเหตุ เพราะการรักษาคนไข้ระบบประสาทต้องทำทันที หากช้านั่นหมายถึงชีวิต หรือหากรอดชีวิตก็อาจจะส่งผลทำให้พิการซึ่งก็คือความสูญเสียในระยะยาว
"ตั้งแต่ทำงานอยู่ที่นี่ทำให้รู้ว่าความสุขของตัวเอง คือ ความสุข รอยยิ้มของคนไข้ การกลับมาเดินได้ พูดได้ เพราะชีวิตของแต่ละคนล้วนมีคุณค่า และการได้อยู่ที่นี่ก็ทำให้รู้ว่าชีวิตของหมอก็มีคุณค่ากับสามจังหวัดชายแดนใต้" แพทย์หญิงนันทกา กล่าว
สำหรับ โรงพยาบาลยะลา ถือเป็นโรงพยาบาลศูนย์ที่ดูแลสามจังหวัดชายแดนใต้ ขนาด 500 เตียง ทำให้มีประชาชนมาเข้ารับบริการเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย แต่ที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้ขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง จนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว หน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกันระดมทุนในการจัดสร้างห้องผ่าตัดระบบไฮบริด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ ได้มอบเครื่องมือที่จำเป็น นับเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการรักษาได้อีกระดับหนึ่ง