นอกจากช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศไทยแล้ว เป็นการปลูกจิตสำนึกชุมชนในพื้นที่ร่วมดูแลผืนป่า ส่งเสริมชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน
เสียงสะท้อนจากชุมชนที่อาศัยรอบพื้นที่ป่าในวันนี้ ได้ผืนป่าอุดมสมบูรณ์กลับมาอีกครั้ง "นายรอบ ชัยวัติ " ผู้ใหญ่บ้านห้วยบง วัย 54 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี มานานกว่า 20 ปี และเข้าร่วมกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเกือบทุกครั้ง เล่าว่า สภาพป่าแห่งนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เป็นป่าที่แห้งแล้งมาก มองไปเห็นแต่โขดหิน เครือเถาวัลย์ และหนามสนิมขึ้นเต็มไปหมด หน้าแล้งก็มีไฟไหม้ป่าตลอด เพราะอากาศร้อนและแห้งแล้งมาก ผิดกับสภาพป่าตอนนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปผิดหูผิดตา ต้นไม้ขึ้นเต็มพื้นที่ หลังจากที่กรมป่าไม้และซีพีเอฟเข้ามาฟื้นฟู ผมเองก็ช่วยระดมชาวบ้านไปช่วยปลูกป่าตลอด ดีใจที่วันนี้เราได้ป่ากลับคืนมาอีกครั้ง ชาวบ้านได้อาศัยผืนป่าเป็นแหล่งอาหาร เข้าไปเก็บเห็ด เก็บหน่อไม้ นำมาบริโภค หวังว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้า ถ้าชาวบ้านช่วยกันดูแลรักษาป่า ก็จะช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดิน ฝนตกในพื้นที่ตามฤดูกาล
"วราวุธ อ่วมเอี่ยม" วัย 52 ปี ชาวบ้านหมู่บ้านห้วยบง ต.พัฒนานิคม เล่าว่า เมื่อปลายปี 2560 ได้รับการชักชวนจากผู้ใหญ่บ้านห้วยบงให้เข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่า มีกรมป่าไม้และซีพีเอฟร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟู ตอนแรกๆเลยก็คิดว่าภาคเอกชนเข้ามาปลูกป่า ก็คงทำแค่ฉาบฉวย เข้ามาทำกิจกรรม แล้วเดี๋ยวก็ไป แต่จนถึงวันนี้ สภาพป่าเขาพระยาเดินธงเริ่มฟื้นตัว ต้นไม้โตเกือบท่วมหัวแล้ว ชุมชนเองคาดหวังว่าจะมีการสานต่อโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากป่าที่กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารและเป็นที่พึ่งพาของชุมชนต่อไปได้
"ประทีป อ่อนสลุง" วัย 55 ปี ชาวบ้านที่อาศัยอยู่หมู่บ้านโคกสลุง ต.พัฒนานิคม มาตั้งแต่เกิด ปราชญ์ชาวบ้าน ถ่ายทอดภาพจำเกี่ยวกับ"เขาพระยาเดินธงว่า เมื่อก่อนป่าถูกบุกรุก ถูกทำลาย เป็นป่าที่ไม่สมบูรณ์ แต่ตอนนี้สภาพเปลี่ยนแปลงไปมาก ชาวบ้านได้ป่ากลับคืนมา พวกเราชาวบ้านยังคุยกันว่า "ภูเขามันอ้วนขึ้น" เพราะต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่เขาพระยาเดินธงโตสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นแนวโน้มที่ดี อยากเห็นทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า โดยเฉพาะภาคเอกชนซึ่งมีความพร้อมด้านงบประมาณ เข้ามาปลูกป่าแล้วก็ต้องติดตามและดูแล นำไปสู่การสร้างจิตสำนึกของคนในชุมชนได้ เพื่อที่ชุมชนจะทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าและอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังได้ส่งเสริมเกษตรกรในชุมชนปลูกผักปลอดสาร โดยเข้ามาให้ความรู้ตั้งแต่การวิเคราะห์ดิน เตรียมดิน การทำปุ๋ยและสนับสนุนถังสำหรับเก็บน้ำ ผลผลิตผักที่ได้เป็นผักที่ปลอดภัยเพื่อบริโภคในครัวเรือน นำมาแบ่งปันกันในชุมชน หรือหากเก็บผลผลิตได้ปริมาณมากก็สามารถนำผลผลิตจำหน่ายสู่ตลาดของชุมชนได้อีกด้วย
ตลอด 5 ปี ซึ่งเป็นความร่วมมือโดยกรมป่าไม้ ซีพีเอฟ และชุมชนในโครงการ " ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" พื้นที่เขาพระยาเดินธง ยังเป็นต้นแบบของการปลูกป่าในพื้นที่อื่นๆ เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการปลูกป่าและด้านป่าไม้ ให้แก่ผู้ที่สนใจ เยาวชน และประชาชน ซึ่งซีพีเอฟพร้อมสานต่อและขยายผลโครงการปลูกป่าอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ สนับสนุนชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน รักษาและส่งมอบผืนป่าที่สมบูรณ์สู่รุ่นลูกหลานต่อไป