จิตเวชโคราชเปิดบริการ“คลินิกกัญชา” ใช้ยาไทยตำรับดั้งเดิม คลายทุกข์เรื่องนอนไม่หลับ ให้ผู้ป่วย 3 กลุ่มโรค!

พฤหัส ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๐๒๐ ๑๕:๕๓
รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ เปิดคลินิกกัญชา รักษาโดยใช้ยาไทยตำรับศุขไสยาศน์ชนิดผงและน้ำมันกัญชา คลายทุกข์เรื่องนอนไม่หลับให้ผู้ป่วย 3 กลุ่มโรคที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วยังไม่ได้ผล ได้แก่โรคนอนไม่หลับ วิตกกังวล ความจำเสื่อม ใน 4 จังหวัดอีสานล่างมีกว่า 200 คน ผู้ป่วยใช้บริการได้ทุกสิทธิ์แต่ต้องไม่ป่วยเป็นโรคจิตไบโพลาร์ และไม่ใช้สิ่งเสพติดทุกชนิด พร้อมทั้งลงนามความร่วมมือกับ รพ.สูงเนิน และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักจังฟาร์มฯ วังน้ำเขียว ปลูกสมุนไพรกัญชาแบบปลอดภัยและผลิตยาสมุนไพรได้มาตรฐาน นำมาใช้รักษาผู้ป่วย

เช้าวันนี้ (20 ก.พ. 2563) ที่โรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ศ.(พิเศษ)ดร.นายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ นายแพทย์วิชาญ คิดเห็น ผู้อำนวยการ รพ.สูงเนิน และนางสาวฐิวรรณี กันหามาลา ผู้จัดการบริษัทรักจังฟาร์ม จำกัด ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักจังฟาร์ม อ.วังน้ำเขียว ในโครงการปลูกสมุนไพรกัญชาแบบออแกนิกส์ ปลอดภัย เพื่อนำมาผลิตตำรับยาแผนไทยต่างๆ ที่มีส่วนประกอบของกัญชาเพื่อใช้ในรักษาผู้ป่วยที่ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ พร้อมทั้งเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยของ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่ชั้น 1 ในอาคารการแพทย์แผนไทย โดยมีนายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำเขตสุขภาพที่ 9 และผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมพิธี

ศ.(พิเศษ)ดร.นายแพทย์สำเริง กล่าวว่า การเปิดคลินิกกัญชาฯ ของรพ.จิตเวชนครราชสีมาครั้งนี้ เป็นการสนองนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างครบวงจร นอกจากจะได้ประโยชน์ทางการแพทย์แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจให้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ จ.นครราชสีมา จากการปลูกสมุนไพรกัญชาและอบใบแห้งเพื่อจำหน่ายให้ รพ.จิตเวชฯ และจัดส่งให้

รพ.สูงเนิน ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาสมุนไพรที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบที่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี และมี รพ.จิตเวชฯ ซึ่งเป็น รพ.เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านจิตเวชเป็นฝ่ายใช้ เป็นการยกระดับมาตรฐานการใช้สมุนไพรไทยในทางการแพทย์อย่างจริงจัง มีวิชาการรองรับตามมาตรฐานสากล จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นยอมรับในเรื่องคุณภาพมากขึ้น

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีนโยบายให้ รพ.ในสังกัดเปิดให้บริการคลินิกกัญชาผสมผสาน เพื่อดูแลผู้ป่วยด้วยยาแผนไทยตำรับกัญชา เพิ่มโอกาสในการรักษาให้ผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตเวช ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการเรื้อรัง และตั้งคลินิกให้คำปรึกษากัญชาทางการแพทย์ ให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยสูงสุด โดยคลินิกกัญชาของ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ในระยะแรกนี้จะใช้ 2 ตำรับคือยาไทยตำรับศุขไสยาศน์ซึ่งเป็นใน 1 ใน16 ตำรับยาไทยดั้งเดิมที่มีส่วนประกอบของกัญชาและมีข้อมูลทางวิชาการรองรับชัดเจนว่ามีสรรพคุณรักษาอาการนอนไม่หลับ ช่วยให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น และใช้น้ำมันกัญชา ให้บริการผู้ป่วย 3 กลุ่มโรคที่มีปัญหานอนไม่หลับและรักษาด้วยวิธีการของแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่ดีขึ้น ซึ่งใน จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ มีผู้ป่วยกลุ่มนี้รักษาที่ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ จำนวน 268 คน เป็นชาย 111 คน หญิง 157 คน ประกอบด้วย 1. กลุ่มโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) 68 คน 2. วิตกกังวล (Anxiety) 120 คน และ3. กลุ่มโรคความจำเสื่อม 80 คน ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ป่วยโรคทางจิต ยังสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่มีปัญหานอนไม่หลับ หรือหลับยาก ซึ่งยาทั้ง 2 ตำรับนี้จะช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานเหล่านี้ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า คลินิกกัญชา จะให้บริการสัปดาห์ละ 1 วัน คือวันพฤหัสบดี เวลา 8.30-16.30น. มีทีมบุคลากรผ่านการอบรมหลักสูตรกัญชาทางการแพทย์ให้บริการ 9 คน ประกอบด้วยจิตแพทย์ แพทย์แผนไทย เภสัชกร พยาบาลจิตเวช นักเทคนิคการแพทย์ ผู้ป่วยทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพสามารถรับบริการได้ตามความสมัครใจ

โดยจะต้องอยู่ในเงื่อนไขต่อไปนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด คือ 1. อายุ 18 ปีขึ้นไป ผ่านการตรวจประเมินตามขั้นตอนจากจิตแพทย์ว่าอาการทางจิตใจอยู่ในสภาวะสงบและคงที่ 2. ไม่ป่วยเป็นโรคจิตไบโพลาร์ 3. ไม่มีประวัติใช้สารเสพติดรวมทั้งเหล้าและบุหรี่ 4. การทำงานของตับและไตเป็นปกติ โดยแพทย์แผนไทยจะจ่ายยาศุขไสยาศน์ซึ่งเป็นชนิดผงชงละลายน้ำดื่มวันละ 1 ครั้งก่อนนอนหรือจ่ายน้ำมันกัญชา และนัดติดตามผลทุก 1-2 สัปดาห์ ในระหว่างนี้ทีมเภสัชกรจะติดตามผลหลังกินยาในช่วงสัปดาห์แรก โดยจะประเมินผลภาพรวมทั้งด้านคุณภาพการนอนหลับ อาการวิตกกังวล คุณภาพชีวิต ประสิทธิภาพการรักษา รวมทั้งอาการข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นง่วงนอนมากกว่าปกติ คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง มึนเวียนศีรษะในอีก 3 เดือน ก่อนเพิ่มตำรับอื่นๆ คือสารสกัดกัญชาในระยะต่อไป

ประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่คลินิกแพทย์แผนไทย หมายเลขโทรศัพท์ 0 4423 3999 ต่อ 65635 และ 06 1023 6886

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ