กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกฯ จับมือสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เสนอเร่งแก้กฎหมายอนุญาตใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิลเพื่อลดปริมาณพลาสติกเกิดใหม่

พฤหัส ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๐๒๐ ๑๖:๔๖
ผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เข้าพบ นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข- เพื่อหารือแนวทางในการร่วมผลักดันปรับปรุงกฏหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้มีการนำพลาสติกรีไซเคิล Recycled PET (rPET) มาใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้ พร้อมเผยผลวิจัยโดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่าประเทศไทยสามารถดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้ หากใช้แนวทางการประเมินความปลอดภัยที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น แนวทางของสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพยุโรป ร่วมกับการมีกฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตต้องผ่านการทดสอบเพื่อพิสูจน์ว่า กระบวนการผลิตสามารถขจัดสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางกลุ่มฯ เชื่อมั่นว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยลดการใช้พลาสติกเกิดใหม่ ส่งเสริมการรีไซเคิล และแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืน

จากการที่สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยได้ขานรับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางในการส่งเสริมให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล แต่ในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีข้อห้ามตามกฎหมายนั้น นายวีระ อัครพุทธิพร อุปนายก และ ประธานกรรมการบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ได้เปิดเผยว่า "จากการทำงานในช่วงที่ผ่านมา สมาคมฯ พบว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนหนึ่งยังไม่มั่นใจถึงผลกระทบด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค สืบเนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการคัดแยกวัสดุรีไซเคิลออกจากขยะทั่วไปอย่างเป็นระบบ และผู้บริโภคส่วนหนึ่งนำเอาขวดเครื่องดื่มที่ใช้แล้วไปบรรจุผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food products) ทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะเกิดการปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ฉะนั้น สมาคมฯ จึงสนับสนุนให้สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการศึกษาวิจัยเพื่อประเมินความปลอดภัยในเรื่องนี้ ซึ่งน่ายินดีที่ผลการวิจัยบ่งชี้ว่าพฤติกรรมการใช้ขวด PET ซ้ำของคนไทยมิได้น่าเป็นห่วงอย่างที่คิดกัน หากภาครัฐสามารถปรับเปลี่ยนกฎหมายให้มีการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยที่ชัดเจน รวมถึงกำกับดูแลให้ผู้ผลิตทุกรายต้องผ่านการทดสอบเพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่ากระบวนการผลิตขวดจากพลาสติกรีไซเคิลสามารถขจัดสิ่งปนเปื้อนได้ ก็จะช่วยลดการใช้พลาสติกเกิดใหม่และส่งเสริมการรีไซเคิลให้มากขึ้นอีกด้วย"

ผศ.ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการการศึกษาข้อมูลสำหรับการประเมินความปลอดภัย เพื่อใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก กล่าวถึงรายงานผลการศึกษาว่า ทางคณะผู้วิจัยได้สำรวจพฤติกรรมการนำขวดเครื่องดื่มไปใช้หลังการบริโภคของคนไทยที่อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อน พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ 70% มักนำขวด PET มาใช้ซ้ำ โดยเติมน้ำดื่มหรือเครื่องดื่ม (69%) สำหรับประเด็นสารอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหาร ที่อาจปนเปื้อนในขวด PET นั้น เห็นว่า ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่สามารถกำจัดสารปนเปื้อนเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยสำหรับการนำกลับมาบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งรายงานฉบับนี้ ได้มีการแนะนำแนวทางการกำหนดค่าประเมินความปลอดภัยไว้แล้ว ทั้งนี้ เสนอว่าในเบื้องต้นผู้ผลิตรีไซเคิลพลาสติก (rPET) ควรมีการควบคุมแหล่งที่มา (Feedstock) และประเภทของพลาสติกที่จะนำมารีไซเคิล เพื่อผลิตเป็นขวดเครื่องดื่ม และภาชนะบรรจุอาหาร โดยจะต้องสามารถแสดงที่มาของพลาสติก ผลการทดสอบการกำจัดสารปนเปื้อนในกระบวนการรีไซเคิล ซึ่งอ้างอิงแนวทางการประเมินความปลอดภัยและการประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก rPET ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (USFDA) หรือหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority - EFSA)

ขณะนี้ทางสถาบันฯ ได้นำเสนอข้อเสนอ (ร่าง) แนวทางการประเมินความปลอดภัย และการประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติกสำหรับประเทศไทยดังกล่าว ให้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และคณะทำงานของ อย. เพื่อใช้เป็นแนวทางพิจารณาแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ.2548 ข้อ 8 ที่ระบุว่า "ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก" ทั้งนี้เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้สามารถใช้ขวดบรรจุเครื่องดื่มที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล (Recycled PET) ได้

นายสมศักดิ์ สิทธิชาญคุณะ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกฯ มุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกปี 2561-2573 ของรัฐบาล ที่ต้องการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% ภายในปี 2570 โดยนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy ไปปรับใช้ มุ่งเน้น "Reduce-Reuse-Recycle" เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งการรีไซเคิล ถือเป็นหัวใจหลัก ดังนั้นหากมีการผลักดันให้เกิดการนำพลาสติกรีไซเคิลกลับมาใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหารหรือเครื่องดื่ม ก็จะเป็นการลดขยะพลาสติกได้อย่างแท้จริง เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีการใช้พลาสติกประเภท PET เป็นจำนวนมาก คิดเป็นสัดส่วน 80-90% ของปริมาณการใช้พลาสติก PET ทั้งหมด ซึ่งในหลายๆ ประเทศได้มีการนำพลาสติกรีไซเคิล (rPET) มาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มได้สำเร็จแล้ว แต่ว่าในประเทศไทย ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากมีข้อห้ามตามกฎหมาย ทั้งที่เรามีโรงงานผู้ผลิตพลาสติกรีไซเคิล (rPET) และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปลอดภัยได้มาตรฐานระดับสากล กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกฯ จึงเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การเปิดโอกาสให้สามารถนำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มจะเป็นการลดขยะจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว และเป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศไทยในการขับเคลื่อนการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ซึ่งจะสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลได้วางโรดแมปไว้ในการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน"

สำหรับโครงการศึกษาประเมินความปลอดภัยเพื่อใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก พร้อมการสำรวจพฤติกรรมหลังการบริโภคของผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งจัดทำโดยสถาบันโภชนการ มหาวิทยาลัยมหิดลนั้นได้รับการสนับสนุนจากสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย โดยการสนับสนุนจาก กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ร่วมกับ บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส

สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เป็นการรวมกลุ่มของผู้ผลิตและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างสมาชิกหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเอื้ออำนวยให้สมาชิกสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ให้เติบโตยิ่งขึ้น ปัจจุบัน สมาคมมีสมาชิก 46 บริษัท

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version