นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 22 – 29 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ กรมการข้าวได้จัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์รับรองและพันธุ์แนะนำล็อตที่ 3 เพื่อไปเก็บรักษาไว้ ณ ธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชโลกสวาลบาร์ค (Svalbard Global Seed Vault) ประเทศนอร์เวย์ จำนวน 68 สายพันธุ์ อาทิเช่น
ข้าวขาวตาแห้ง 17 ข้าวเหลืองประทิว ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวแม่ม่ายหลุดหนี้ ข้าวละอองกษัตริย์ และข้าวพญาชม 280 เป็นต้น ซึ่งแต่ละสายพันธุ์นับเป็นข้าวพื้นเมืองและข้าวที่ได้รับความนิยมในท้องตลาด ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ โดยจะนำเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิติดลบถึง - 18 องศาเซลเซียส ซึ่งจะช่วยให้เมล็ดพันธุ์เหล่านี้มีอายุยืนยาวอยู่ได้นานถึงหลายร้อยปี
สำหรับธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชโลกสวาลบาร์ด (Svalbard Global Seed Vault) ได้รับขนามนามว่าเป็นขุมทรัพย์แห่งเมล็ดพันธุ์ที่รวบรวมตัวอย่างเมล็ดพันธุ์สำคัญจากทั่วโลกไว้กว่า 135,000 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นธัญพืช ข้าวสาลี รวมถึงถั่วสายพันธุ์ต่าง ๆ เปรียบเหมือนเรือโนอาห์ในยามที่ภัยพิบัติมาเยือนโลก สถานที่แห่งนี้ซ่อนตัวอยู่ภายในเทือกเขาของประเทศนอร์เวย์ ในฐานะนโยบายการประกันต่อโลก เพื่อรับมือต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติและภัยพิบัติทางชีวภาพใด ๆ ที่จะเข้ามาทำลายป่าไม้อันเขียวชอุ่มและพืชพันธุ์ให้หายไปจากโลก
นายสุดสาคร กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากรมการข้าวได้ดำเนินการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวไปเก็บรักษาไว้ที่ธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชโลกสวาลบาร์ด (Svalbard Global Seed Vault) โดยในล็อตที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2556 จำนวน 81 พันธุ์ และล็อตที่ 2 เมื่อปี 2561 จำนวน 86 พันธุ์
การนำเมล็ดพันธุ์ข้าวไปเก็บไว้ที่ธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชโลกสวาลบาร์ด (Svalbard Global Seed Vault) สืบเนื่องจากในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรเดนมาร์กและนอร์เวย์ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 11 - 16 มีนาคม 2556 ทรงเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการดำเนินงานของธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชโลกสวาลบาร์ด (Svalbard Global Seed Vault) ราชอาณาจักรนอร์เวย์ เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยทรงมีพระราชประสงค์ให้นำเมล็ดพันธุ์ข้าวไทยไปเก็บรักษาไว้ด้วย ซึ่งกรมการข้าวได้สนองพระราชดำริ จัดทำโครงการ "อนุรักษ์พันธุกรรมข้าวแบบยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติ 81 พรรษา มหาราชินี" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมข้าวที่สำคัญไว้ให้ยั่งยืน โดยโครงการฯดังกล่าวได้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งนอกจากจะช่วยอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวที่สำคัญและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการเก็บรักษาพันธุกรรม และความหลากหลายทางชีวภาพของพืชที่เป็นอาหารหลักของประชากรโลก