#KMITL #สจล #AIDT #60thAniversary #GoBeyondTheLimit #JCCOTH
สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดตัวหลักสูตรนานาชาติ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (Architectural Intelligence & Design Thinking: AI.DT) เตรียมปั้นสถาปนิกอัจฉริยะ พร้อมปลูกฝังกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ตอบรับการเรียนการสอนในยุคดิสรัปชัน โดยหลักสูตรดังกล่าวเปิดรับสมัครนักศึกษารุ่นแรก ประจำปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป พร้อมกันนี้ สจล. ยังจัดงานเสวนา "ทิศทางของงานออกแบบสถาปัตยกรรมในศตวรรษที่ 21" โดยมีบุคคลวงการสถาปัตย์ชั้นนำของเมืองไทยร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองที่น่าสนใจ อาทิ คุณรุ่งโรจน์ จงศุจิพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส Mulberry Grove, MQDC คุณจีรเวช หงสกุล ผู้ก่อตั้งบริษัท IDIN Architects คุณเศรษฐวัฒก์ ศรีวิโรจน์ Senior Vice-President, MQDC เป็นต้น โดยภายในงาน ทีมผู้บริหาร สจล. ยังร่วมแจกสเปรย์แอลกอฮอล์ ผลงานของคณะวิทยาศาสตร์ สจล. ให้แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อใช้ทำความสะอาดมือ ป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดในปัจจุบัน ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นที่ สยามสแควร์วัน ชั้น 3 ลานกิจกรรมเชื่อมบีทีเอสสยาม กรุงเทพฯ
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รักษาการแทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบพระจอมเกล้าลาดกระบัง 60 ปี ไร้ขีดจำกัด ภายใต้แนวคิด KMITL 60 Years GO Beyond the Limit สจล. จึงได้เปิดตัวหลักสูตรนานาชาติ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. (AI.DT) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อผลิตสถาปนิกในยุคดิสรัปชัน หลักสูตรดังกล่าวไม่เพียงมุ่งเน้นการเรียนรู้ด้านการออกแบบ แต่ยังได้เรียนรู้การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการข้อมูลที่มีความซับซ้อนในทุกมิติ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการสถาปนิกที่เก่งรอบด้านในอนาคต โดยคณะดังกล่าว ที่ไม่เพียงมุ่งผลิตสถาปนิก ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ต้องมีความรู้ความสามารถรอบด้านที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในโลกการทำงานได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า หลักสูตรนานาชาติ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. (AI.DT) ก่อตั้งขึ้นเพื่อผลิตสถาปนิกอัจฉริยะ ที่ติดอาวุธกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) โดยหลักสูตรการเรียนการสอนประกอบด้วย 4 สาขา ที่เปรียบเสมือนห้องทดลองการออกแบบ (design labs) ให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนตามความต้องการต่อยอดในการประกอบอาชีพในอนาคต ได้แก่ 1) สถาปัตยกรรมดิจิทัล (Digital Architecture) 2) การจัดการโครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวก (Construction and Facility Management) 3) สถาปัตยกรรมเขตร้อนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Tropical Design) และ 4) กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) นักศึกษาที่จบหลักสูตร AI.DT จึงสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย อาทิ สถาปนิกดิจิทัล สถาปนิกด้านเอไอ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบ BIM นักออกแบบครอบจักรวาล เป็นต้น โดยในแต่ละหลักสูตรมีการนำเทคโนโลยีเออาร์ (AR) วีอาร์ (VR) และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความล้ำสมัยมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้นักศึกษาสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมืออันทันสมัยเข้ากับการสร้างสรรค์งานออกแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ผศ.ดร.อันธิกา กล่าวเพิ่มว่า ในชั้นปีที่ 4 นักศึกษามีโอกาสเลือกฝึกงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่โลกการทำงานจริง หรือเลือกศึกษาในสถาบันนานาชาติชั้นนำในความร่วมมือของคณะ (Co-operative education) ประกอบด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ออสเตรเลีย (The University of Newcastle Australia) และวิทยาลัยสิงคโปร์โพลีเทคนิค (User Experience Centre, Singapore Polytechnic) การเลือกศึกษากับสถาบันนานาชาติดังกล่าว ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมใหม่ๆ ไปพร้อมกับความรู้เชิงปฏิบัติการจากสถาบันในความร่วมมือ รวมถึงได้ฝึกฝนทักษะการทำงานในระดับสากล นอกจากนี้ เมื่อจบหลักสูตรฝึกงาน หรือเลือกศึกษากับสถาบันในความร่วมมือ นักศึกษาจะต้องนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ กลับมาทำวิทยานิพนธ์ในปีสุดท้าย ตามโมเดลการเรียนรู้แบบ Capstone project ถือเป็นการสำเร็จหลักสูตรการศึกษาอย่างสมบูรณ์แบบ สามารถทำงาน และสอบใบประกอบวิชาชีพได้
"หลักสูตร AI.DT ไม่เพียงแค่ผลิตสถาปนิกทั่วไป แต่ยังติดปัญญาอัจฉริยะให้กับการเรียนออกแบบสถาปัตยกรรม เพื่อสร้างสถาปนิกรุ่นใหม่ที่รู้เท่าทันการทำงานในยุค Data Disruption เรามุ่งหวังที่จะสร้างสถาปนิกที่นำเทคโนโลยี ดิจิทัลมาใช้ในการออกแบบอย่างชาญฉลาด ตลอดจนต้องการเห็นสถาปนิกที่สามารถผลิตซอฟต์แวร์ได้เองในนามคนไทย ดังเช่นดีเอ็นเอ (DNA) ของพระจอมเกล้าลาดกระบัง ที่มุ่งหวังให้นักศึกษาสามารถคิด สร้าง นวัตกรรม ด้วยความคิดสร้างสรรค์อย่างไร้ขีดจำกัด" ผศ. ดร. อันธิกา กล่าวสรุป
อย่างไรก็ตาม ภายในงานเปิดตัวหลักสูตรนานาชาติ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. (AI.DT) ยังมีการจัดเสวนา "ทิศทางของงานออกแบบสถาปัตยกรรมในศตวรรษที่ 21" โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย อาทิ 'ความเปลี่ยนแปลงของประชากรและสังคมสูงวัยกับกระบวนการออกแบบอาคาร Mixed use แนวคิด Inter-generation กับงานออกแบบใหม่ๆ ภาคการศึกษาต้องเตรียมทักษะอะไรบ้าง' โดย คุณรุ่งโรจน์ จงศุจิพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส Mulberry Grove, MQDC หัวข้อ 'ความสำคัญของการออกแบบสถาปัตยกรรม ให้สอดคล้องกับพื้นที่เขตร้อน (Tropical Design) สถาปนิกต้องเพิ่มเติมความรู้หรือทักษะอะไรบ้างในอนาคต' โดย คุณจีรเวช หงสกุล ผู้ก่อตั้งบริษัท IDIN Architects และหัวข้อ 'ความสำคัญของ Design Thinking ในกระบวนการออกแบบ' โดย คุณวิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ Foresight Specialist, Future Tales, MQDC เป็นต้น
นอกจากนี้ ภายในงาน ทีมผู้บริหาร สจล. ยังได้แจกสเปรย์แอลกอฮอล์ให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน ตลอดจนประชาชนทั่วไปในบริเวณสยามสแควร์ ซึ่งสเปรย์แอลกอฮอล์ดังกล่าวผลิตขึ้นโดยคณะวิทยาศาสตร์ สจล. เป็นสูตรที่ใช้ง่าย อ่อนโยน ไม่เหนียวเหนอะหนะ แต่ยังคงประสิทธิภาพการป้องกันได้อย่างดี และสะดวกในการพกพา เหมาะสำหรับทำความสะอาดมือในคราวจำเป็นที่บางท่านไม่สามารถหาที่ล้างมือได้อย่างสะดวก เพื่อช่วยป้องกันเชื้อโรค เสริมสร้างสุขลักษณะที่ดี ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 (COVID-19)
ทั้งนี้ งานเปิดตัวหลักสูตรนานาชาติ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. (AI.DT) จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่ สยามสแควร์วัน ชั้น 3 ลานกิจกรรมเชื่อมบีทีเอสสยาม กรุงเทพฯ ผู้ที่สนใจหลักสูตร AI.DT สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.arch.kmitl.ac.th โทรศัพท์ 081-577-2525 หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ facebook.com/AIUnit