การเปิดตัวโครงการ "1st JobberHack Challenge ติดอาวุธเสริมทักษะด้านดิจิทัล" จัดขึ้นที่บริษัทเอไอเอส เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมพร้อมเยาวชนระดับชั้นอุดมศึกษาด้วยทักษะเชิงดิจิทัลที่จำเป็นต่อการทำงานในศตวรรษที่ 21 พร้อมสนับสนุนการนำทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงผ่านการนำเสนอไอเดียโซลูชั่นเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับธุรกิจได้จริง โดยต่อยอดจากการฝึกอบรมผ่านช่องทางออนไลน์ผ่าน Microsoft Teams ซึ่งครอบคลุมหัวข้อพื้นฐาน ได้แก่ การประมวลผลของชุดคำสั่ง (documenting) การสื่อสาร (communication) การเก็บข้อมูลและเว็บไซต์ (data collecting and website) การจินตนาการภาพจากข้อมูล (data visualization) ระบบควบคุมอัตโนมัติและการสร้างแอปพลิเคชัน (automation and building application) และการสร้างแอปพลิเคชันผลิตภัณฑ์ (create product application)
นางสาวชนิกานต์ โปรณานันท์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาดและปฏิบัติการ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า "ไมโครซอฟท์เชื่อมั่นมาโดยตลอดว่าความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ด้วยการเปิดโอกาส รับแนวคิดจากทุกคน ทุกวัย และทุกภาคส่วนมาพิจารณาต่อยอด ด้วยเหตุนี้ กิจกรรมแฮคกาธอนจึงเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมการสร้างแนวคิดของไมโครซอฟท์ และยังถือเป็นโอกาสที่ยอดเยี่ยมในการค้นหามุมมองใหม่ ๆ เพื่อเอาชนะปัญหาและอุปสรรคที่เราต้องเผชิญ ไม่ว่าจะในเชิงธุรกิจ สังคม หรือการศึกษา ในโอกาสนี้ เราจึงนำเสนอเครื่องมือและบริการจาก Power Platform และ Microsoft Office 365 เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลในรูปแบบที่เปิดกว้าง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการเขียนโค้ดในทุกส่วน (low coding environment) ให้นิสิตนักศึกษาในโครงการได้นำไปประยุกต์ใช้ โดยเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับเอไอเอสเพื่อจุดประกายสร้างสรรค์ของน้อง ๆ คนรุ่นใหม่ ควบคู่ไปกับการยกระดับทักษะเชิงดิจิทัลไปพร้อมกัน และเราก็มีความตื่นเต้นไม่น้อยที่จะได้เห็นผลงานการสร้างแอปพลิเคชันจากฝีมือนิสิตนักศึกษาทุกคนค่ะ"
นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายงานขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอสกล่าวว่า "ในฐานะผู้ให้บริการ Digital Life Service Provider นอกเหนือจากภารกิจในการพัฒนาเครือข่ายและการให้บริการแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัดเวิร์กช้อป และเปิด AIS Playground คอมมูนิตี้ด้านการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นพื้นที่ให้นิสิต นักศึกษา และสตาร์ทอัพได้แสดงความสามารถและร่วมพัฒนานวัตกรรมไปพร้อมๆ กัน โดยการร่วมมือบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ในครั้งนี้ เอไอเอส รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนสนับสนุนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี, บุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากทีม NEXT เพื่อช่วยให้คำแนะนำในการพัฒนาธุรกิจ ตลอดจนสนับสนุนดิจิทัล แพลตฟอร์มจากไอเอเอส เพื่อให้นิสิต นักศึกษาสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือและทักษะทางด้านการเขียนโปรแกรมแก้ไขโจทย์ทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เราเชื่อว่ามั่นว่าการร่วมมือกันครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้าง Innovation และ Collaboration ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องใน Ecosystem ในอนาคตได้อย่างแน่นอน"
ในงานเปิดตัวโครงการที่ผ่านมา มีนิสิตนักศึกษาให้ความสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 29 ทีม จาก 9 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยนอกจากนิสิตนักศึกษาเหล่านี้จะได้รับความรู้จากเวิร์คช็อปการออกแบบความคิดและนำเสนอไอเดีย พร้อมคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมในงานเปิดตัวที่ผ่านมาแล้ว พวกเขายังได้รับโอกาสในการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลที่จำเป็นและมีประโยชน์ ผ่านช่องทางออนไลน์ Microsoft Teamsเป็นระยะเวลา 1 เดือน จนถึงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2563 ด้วย
นายสุกฤษ ฉัตรไชยเดช นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า "ผมรู้สึกว่าโครงการ 1st JobberHack Challenge มีความน่าสนใจตรงที่เป็นโครงการที่เกิดความร่วมมือจากบริษัทยักษ์ใหญ่ 2 แห่งอย่างไมโครซอฟท์และเอไอเอส ผมจึงเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้ผมได้รับประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์จากทั้งสองบริษัทที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรม จากการเรียนรู้ทักษะความรู้ระดับพื้นฐานที่สำคัญในการจัดกระบวนการคิดเพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่เพื่อพัฒนาโซลูชั่นสำหรับธุรกิจต่าง ๆ"
นางสาวยุภาภรณ์ วันนา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาสารสนเทศสถิติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า "ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 จึงรู้สึกว่าโครงการนี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ลองนำความรู้เชิงทฤษฎีที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้ รวมถึงทดสอบศักยภาพของตนเอง ก่อนที่จะออกไปเจอกับสนามแข่งจริง หนูเชื่อว่าทักษะและความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มชีวิตการทำงานในอนาคต ทั้งจากการแบ่งปันประสบการณ์และคำแนะนำโดยผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญที่ประสบความสำเร็จ และจากการฝึกคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับธุรกิจร่วมกับเพื่อนๆ ในกลุ่ม"
หลังจากการฝึกอบรมทางออนไลน์แล้ว ทีมนิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะนำเสนอไอเดียโซลูชั่นเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับธุรกิจในรูปแบบวิดีโอที่มีความยาว 1-2 นาที และทีมผู้ชนะเลิศของการแข่งขันจะถูกประกาศขึ้นในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 หลังจากการนำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการซึ่งล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม โดยทีมนักศึกษาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับ Surface Go จำนวน 3 เครื่อง รางวัลละ 25,900บาท บาท พร้อมการฝึกอบรมการใช้งาน PowerApp และ PowerPlatform สำหรับนักศึกษาจำนวน 50 คนจากมหาวิทยาลัยนั้นๆ ในขณะที่ทีมนักศึกษาที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จะได้รับรางวัลเป็น Surface Go จำนวน 3 รางวัล มูลค่ารวมกว่า 50,000 บาท และทีมนักศึกษาที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จะได้รับรางวัลเป็นหูฟัง Logitech G933s จำนวน 3 รางวัล มูลค่า กว่า 6,000 บาท นอกจากนี้มหาวิทยาลัยที่ชนะเลิศจะได้รับคอร์สสอนการใช้งาน Office 365 จำนวน 50 ที่นั่งฟรี