ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ตามที่มติที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ครั้งที่ 3/2562 ได้มอบหมายให้กระทรวง อว. กำหนดหลักสูตรและสาขาการศึกษาเป้าหมาย และจัดทำกลไกการพัฒนาบุคลากรทักษะสูงร่วมกับภาคเอกชน และดำเนินการรับรอง ประกาศหลักสูตรและสาขาการศึกษาเป้าหมายร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยล่าสุด กระทรวง อว. เชิญมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษากว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ผู้แทนจากหน่วยงานภายใต้ อว. และผู้แทนจากภาคเอกชน เข้าร่วมประชุมจัดทำหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-Degree) เพื่อยกระดับทักษะกำลังคนของประเทศ รองรับกระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ด้วยการพัฒนาทักษะ (Re Skill – Up Skill) ที่ตอบโจทย์ประเทศในอนาคต
"การประชุมมหาวิทยาลัยทั่วประเทศในวันนี้นับเป็นการ Kick off เพื่อปรับบทบาทของมหาวิทยาลัยในการสร้างคนครั้งสำคัญ ที่มหาวิทยาลัยจะต้องสร้างหลักสูตรที่ตอบโจทย์ทักษะแห่งอนาคตให้ได้ไม่น้อยกว่า 500 หลักสูตร และประมาณช่วงปลายเดือนมีนาคม มหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศจะมารวมตัวกันอีกครั้งในงาน Future Career Expo 2020 เพื่อมอบของขวัญให้กับนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ และวัยทำงาน โดยการรวบรวมหลักสูตร Non-Degree กว่า 500 หลักสูตร ครอบคลุมกว่า 100 ทักษะแห่งอนาคต ทั้งด้าน Hard Skill และ Soft Skill ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดทักษะแห่งอนาคต และเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาตนเองให้กับคนไทย อว. ได้ออกมาตรการสร้างแรงจูงใจผ่านการแจกคูปอง Re skill – Up skill มูลค่ารวมกว่า 10 ล้านบาท เพื่อให้ผู้สนใจนำคูปองมาใช้สมัครเป็นส่วนลดหลักสูตรเพื่อ Re skill – Up skill โดยจะเริ่มแจกในงาน Future Career Expo"
สำหรับหลักสูตรประกาศนียบัตร หรือ non degree เพื่อการยกระดับทักษะกำลังคนของประเทศให้เกิดเป็นรูปธรรม ได้มอบหมายให้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดทำรายละเอียดของทักษะเพื่ออนาคตของอุตสาหกรรม S-Curve หรือ Future Skill Set ใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมพัฒนาทักษะและกำลังคน เพื่อให้มหาวิทยาลัยนำแนวทางไปผลิตหลักสูตร non degree ที่เป็นทักษะเพื่ออนาคตและเป็นที่ต้องการของตลาด
โดย Future Skill Set ที่จัดทำขึ้นจะครอบคลุมทั้งด้าน Hard Skill และ Soft Skill แบ่งได้เป็น 10 กลุ่มทักษะ ประกอบด้วย ทักษะอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ทักษะอุตสาหกรรมดิจิทัล ทักษะอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ ทักษะอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ทักษะอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ทักษะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวชุมชน ทักษะด้าน Smart Farming ทักษะด้าน Elderly Care ทักษะภาษาอังกฤษ และทักษะอื่นๆ
"ผมได้มอบโจทย์ในการดำเนินการคือภารกิจสร้างคนถือเป็นวาระแห่งชาติ โดย อว.จะให้ความสำคัญ Life Long Education หรือการศึกษาตลอดชีวิตมากกว่า การศึกษาแบบ Higher Education วันนี้สิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องตอบโจทย์จะไม่โฟกัสที่กลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีในระบบแค่เพียง 3-4 ล้านคนเท่านั้น แต่จะต้องโฟกัสกลุ่มคนทำงาน จำนวนกว่า 38 ล้านคน รวมถึงกลุ่มสูงอายุ จำนวน 11 ล้านคน ให้มีการพัฒนาทักษะ (Re Skill-Up Skill) พร้อมทั้งพัฒนาทักษะใหม่ๆ (New Skill) เพื่อรับกระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ที่ส่งผลให้อาชีพเก่ากำลังจะถูกทดแทน นับจากนี้การศึกษาแบบ "non degree" จะมีบทบาทมากในอนาคต"
ด้าน ดร. สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานกรรมการบริหารส่งเสริมและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะขั้นสูงตามความต้องการของประเทศ เปิดเผยว่า จากกระแสความเปลี่ยนแปลงส่งผลให้อาชีพเก่ากำลังถูกทดแทน โดยจากข้อมูลของ World Economy Forum รายงานว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้งานเก่าจะหายไป 77 ล้านงาน แต่จะมีงานใหม่มาทดแทนอีกกว่า 130 ล้านงาน ในอีก 2 ปีข้างหน้า และมีคนมากถึงกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลกที่จะต้อง Re Skill – Up Skill ความรู้ตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้าเพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง
"จากข้อมูลของ World Economy Forum ผมมองว่าเป็นโอกาสของคนไทยที่จะสามารถเข้าถึงงานได้มากขึ้นจากงานใหม่ที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น และเนื่องจากเป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะใหม่ๆ ก็ส่งผลให้คนไทยมีโอกาสมีรายได้จากงานสูงขึ้น มีความมั่นคงทางรายได้ ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น อว. เห็นโอกาสตรงนี้ จึงอยากชวนคนไทยมา Re skill – Up skill เพื่อรองรับโอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลยังได้ออกมาตรการเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ ด้วยการแจกคูปอง Re skill – Up skill มูลค่า 1,000 บาท และ 2,000 บาท เพื่อเป็นส่วนลดในการลงเรียนหลักสูตรที่เป็นทักษะตามความต้องการของตลาดในอนาคต โดยแจกคูปองให้รวมประมาณ 10,000 คน"
ดร.สัมพันธ์ กล่าวต่อว่า การหารือกับผู้แทนจากภาคอุดมศึกษา ผู้แทนจากหน่วยงาน อว. และภาคเอกชน ครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของทุกภาคส่วนในการร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนของประเทศ มหาวิทยาลัยก็พร้อมที่จะก้าวออกมาจากการสอนแบบเดิม คือ เรียน 4 ปี รับใบปริญญา มาสู่การพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น Non Degree ทั้งในรูปแบบ Offline และ Online ที่มุ่งเน้นให้เกิดทักษะในการทำงาน มากกว่าความรู้ที่จบแค่ในห้องเรียน
ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลการศึกษาความต้องการบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) * พบว่าภายใน 5 ปี นับจากนี้มีความต้องการบุคลากรสูงถึง 475,000 คน ครอบคลุมทุกระดับการศึกษาตั้งแต่อาชีวศึกษาจนถึงปริญญาเอก โดยแบ่งเป็นความต้องการแรงงานในระดับอาชีวศึกษา 253,000 คน ระดับปริญญาตรี 212,000 คน ระดับปริญญาโท-เอก 8,600 คน รวมทั้งยังมีตำแหน่งงานใหม่นอกเหนือพื้นที่เขต EEC อีกมากมาย รวมกว่า 5 แสนตำแหน่งงาน
ข้อมูลที่มา : https://www.eeco.or.th/pr/news/5YearsEducationManPowerPlanEECHDC