ดร. อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เปิดเผยถึง บทบาทและทิศทางของการเป็นหน่วยงานกลาง ในการให้บริการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการของหน่วยงานของภาครัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยมีพันธกิจหลักคือ การเร่งขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลในทุกมิติ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่ทันสมัยและยั่งยืน ตาม (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ.2563 – 2565 ที่กำหนดกรอบและทิศทางการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบของเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาประเทศ มีการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ และมีกรอบการพัฒนาและแผนการดำเนินงานของประเทศโดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีการประกาศใช้แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลแล้ว มีผลให้หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการตามแผนดังกล่าวและต้องจัดทำหรือปรับปรุงแผนปฏิบัติการหรือแผนงานของหน่วยงานของรัฐให้สอดคล้องกับแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ด้วยวิสัยทัศน์ "เปลี่ยนผ่านภาครัฐสู่ยุคดิจิทัล" รัฐบาลดิจิทัลจะต้องเปิดเผย เชื่อมโยง และร่วมกันสร้างบริการที่มีคุณค่าให้กับประชาชน
อย่างไรก็ดีหลักสำคัญของ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ.2563 - 2565 คือ สร้าง เชื่อม และเปิด สร้าง ประกอบด้วย สร้างข้อมูล - ด้วยธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เพื่อให้ได้ข้อมูลดิจิทัลคุณภาพสูง พร้อมนำไปใช้งานได้อย่างมีคุณภาพ (Data Governance Frame Work) สร้างคน - เตรียมความพร้อมคนให้สามารถบริการได้อย่างตรงใจประชาชน ด้วยการเสริมทักษะด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากรภาครัฐ (TDGA) การเชื่อม - เชื่อมต่อกันด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่มีความแข็งแกร่ง เพื่อก้าวสู่ Digital Transformation ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลผ่านศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ หรือGovernment Data Exchange (GDX) ที่มีความมั่นคงปลอดภัย ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐได้ สามารถตอบโจทย์ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และชาวต่างชาติ เพื่อให้บริการภาครัฐแบบ Single View of Citizen อันจะนำไปสู่การยกระดับบริการหน่วยงานภาครัฐมิติใหม่ที่สามารถให้บริการสาธารณะแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว และ เปิด คือ พร้อมเปิดข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนนำไปต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจผ่านOpen Data และบริการกลางภาครัฐได้อย่างสร้างสรรค์ (data.go.th)
นอกจากนี้ยังรวมถึงข้อมูลในยุคดิจิทัลก็จัดเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะข้อมูลของหน่วยงานของรัฐจัดเป็นแหล่งข้อมูลหนึ่งที่ช่วยผลักดันการสร้างนวัตกรรมและการให้บริการใหม่ ๆ แก่ประชาชน เพื่อให้การทำงานของภาครัฐมีความ "เชื่อมโยง" (Connected Government) และเป็นภาครัฐที่เปิดเผยโปร่งใส (Open Government) บรรลุเป้าหมายในการตอบสนองความต้องการของประชาชน สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์จากข้อมูล และบูรณาการข้อมูลภาครัฐเพื่อยกระดับการบริหารงานและการให้บริการ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนระบบการทำงานภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล
ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เปิดเผยว่า พันธกิจหลักของการเข้ามาบริหารงานใน DGA คือ ผลักดันให้ DGAเป็นหน่วยงานที่ช่วยประสานการขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้รวดเร็วขึ้น โดยมีเป้าหมายภายในระยะเวลา 3 ปี ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยกระดับหน่วยงานภาครัฐสู่องค์กรดิจิทัล, พัฒนาและบูรณาการแพลตฟอร์มดิจิทัลภาครัฐ และส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลดิจิทัลภาครัฐและการใช้ข้อมูล โดยมุ้งเน้น 3 เรื่องหลักที่จะต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน ได้แก่ 1.บุคลากร 2.ขบวนการ 3.เทคโนโลยี ซึ่งจะให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาบุคลากรมากที่สุด เพราะคนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้เร็วขึ้น รวมถึงการเพิ่มช่องทางในการหาพันธมิตรเทคโนโลยีทั้งจากภาครัฐบาลและเอกชนเข้ามาร่วมกันให้มากขึ้น หรือมีการทำงานแบบร่วมสร้างสรรค์ หรือ Co-creation กับทุกฝ่าย
"การที่จะทำให้ภาครัฐบาลสามารถทรานฟอร์มสู่ดิจิทัลเรื่องคนสำคัญที่สุด ปรับเรื่องมายเซ็ตปรับเรื่องสกิล เพื่อให้รองรับว่าการเปลี่ยนแปลงจะเป็นอย่างไร เรื่องที่ 2 คือเรื่องกระบวนการทำงาน ซึ่ง DGA ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อพิจารณาว่ามีกระบวนการไหนบ้างที่จะต้องไปปรับปรุงหรือแก้ไข เราอยากลดขั้นตอนและกระบวนการก่อน และมีกระบวนการไหนบ้างที่ต้องแก้ไข เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องที่เป็นรูปธรรมที่สุด คือ เรื่องเทคโนโลยีที่ DGA จะต้องมีบทบาทร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและจะต้องเป็นหน่วยงานที่เข้ามากำหนดว่าอะไรที่เป็นมาตรฐานกลาง ที่ทำให้หน่วยงานภาครัฐใช้บริการทางด้านเทคโนโลยีจากหน่วยงานไหนก็ได้ และมีการสร้างมาตรฐานการเชื่อมโยงข้อมูล และระบบระหว่างกัน" ดร.สุพจน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ภายใน 3 ปีนี้ DGA จะเร่งทำงาน และส่งต่อบริการ One Stop Service ในส่วนของ 1) Citizen Platform อาทิ ศูนย์รวมองค์ความรู้ ช่องทางการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบบกลางด้านกฎหมาย 2) Business Platform ซึ่งตอนนี้ได้ดำเนินการไปพร้อมกับ สำนักงาน ก.พ.ร. สำหรับStartup หรือผู้ที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจ สามารถยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจแบบครบวงจรผ่าน เว็บไซต์ biz.govchannel.go.th ยื่นที่เดียว เอกสารชุดเดียว กรอกแบบฟรอม์เดียว ติดตามได้ทุกขั้นตอนการขอใบอนุญาต 3) Foreigner Platform ประกอบด้วย การรายงานตัว 90 วัน, แจ้งเข้า/ ไม่เข้า, ย้ายที่พัก, e-Visa, และการแจ้งการเดินทางเข้าประเทศ ให้เป็นรูปธรรมให้ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ DGA ไม่สามารถจะดำเนินการได้เองต้องได้รับการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดการบริการรัฐบาลดิจิทัลอย่างแท้จริง